เดลล์ ชี้ เรากำลังประสบปัญหาข้อมูลล้นจนเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง
ธุรกิจในไทยก็ประสบปัญหาข้อมูลล้น จนไม่สามารถจัดการ หรือนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับทั่วโลก วิจัยชี้ ความย้อนแย้งด้านข้อมูล พบองค์กรขาดความพร้อมในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Data Paradox หรือความย้อนแย้งของข้อมูล เป็นการศึกษาของฟอร์เรสเตอร์ คอนซัลติ้ง ที่ได้รับมอบหมายจาก เดลล์ เทคโนโลยีส์ ในการศึกษาเพื่อหาสาเหตุว่าเพราะอะไรธุรกิจต่างๆ จึงไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์จริงได้
การวิจัย ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation Index ของเดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่สำรวจจากผู้มีหน้าที่ด้านการวางกลยุทธ์ข้อมูล 4,036 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า “ข้อมูลที่มากเกินไป (overload) และการขาดความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกออกมาได้” เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในปีที่ผ่านมา (จากอันดับที่ 11 ในปี 2559)
การศึกษาทำให้เรารู้ว่า มีความย้อนแย้งของข้อมูลหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ
1. ธุรกิจเชื่อว่าตนเองเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลในองค์กรมากพอ
2. ธุรกิจต้องการข้อมูลที่มากขึ้นอีก แต่ปัจจุบันก็มีข้อมูลมากเกินกว่าที่จะจัดการได้แล้ว
3. หลายคนรู้ว่าการจัดการข้อมูลมีประโยชน์แต่กลับยังไม่ปรับตัวไปสู่การบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาใช้
สองในสามของผู้ตอบแบบสอบถาม (66% ในภาพรวม และ 67% สำหรับประเทศไทย) กล่าวว่าธุรกิจของตนเองขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและระบุว่า “ข้อมูลคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง (lifeblood) ขององค์กร” แต่มีเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย: 12 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้นที่ยืนยันว่ามีการจัดการด้านข้อมูลเสมือนเป็นสินทรัพย์และให้ความสำคัญอย่างสูงกับการนำข้อมูลมาใช้ในธุรกิจทั้งหมด
โดยได้มีการวัดคะแนนความพร้อมด้านข้อมูลทั้งในแง่การบริหารจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงความสามารถทางข้อมูล พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ 88% ในภาพรวม และ 95% ในประเทศไทย มีความพร้อมต่ำมาก และได้คะแนนน้อยทั้งในแง่ความสามารถทางเทคนิค เทคโนโลยี กระบวนการทางข้อมูล และวัฒนธรรมและทักษะด้านข้อมูล มีเพียง 12% (ประเทศไทย: 5%) ที่ได้รับการจำกัดความให้เป็น Data Champions ซึ่งได้แก่บริษัทที่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังทั้งสองด้าน
อยากได้ข้อมูลเพิ่ม แต่ตอนนี้ที่มีก็ยังจัดการไม่ไหว
จากการวิจัยพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย: 73 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่าสามารถรวบรวมข้อมูลได้เร็วเกินความสามารถที่จะนำมาวิเคราะห์และใช้งานได้ แต่ 67 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย: 70 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่าต้องการข้อมูลมากกว่าที่สามารถหามาได้ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ อาทิ การไม่ได้รับการสนับสนุนด้านกลยุทธ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลจากฝ่ายบริหาร หรือการมีกลยุทธ์ด้านไอทีที่ไม่รองรับการขยายขีดความสามารถด้านข้อมูล
การเพิ่มจำนวนข้อมูลอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ชีวิตการทำงานยากขึ้นแทนที่จะง่ายขึ้น โดย 64 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย: 65 เปอร์เซ็นต์) บ่นว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่สามารถทำให้ถูกต้องตามข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยและที่ต้องปฏิบัติตามได้ และ 61 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย: 63 เปอร์เซ็นต์) กล่าวว่าทีมทำงานของพวกเขามีข้อมูลท่วมท้นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
“ในช่วงเวลาที่ธุรกิจอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลในการเปิดรับการปฏิรูปทางดิจิทัล เพื่อการให้บริการลูกค้าที่ฉับไวรวดเร็วยิ่งขึ้น องค์กรธุรกิจจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีข้อมูลที่มากขึ้น รวมทั้งเพื่อขุดค้นข้อมูล (mining) ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 44 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยระบุว่า การระบาดของไวรัสทำให้ข้อมูลที่จำเป็นต้องรวบรวบ จัดเก็บและวิเคราะห์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นายนพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าว
“การที่จะเป็นองค์กรธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลคือการเดินทาง และองค์กรจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเพื่อความช่วยเหลือในตลอดเส้นทาง”
ความย้อนแย้งของการ “มองเห็นโดยไม่ทำอะไร”
ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ภาคธุรกิจแบบ on-demand ได้มีการเติบโตและขยายตัว ก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจที่ข้อมูลมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง (data-first) และข้อมูลอยู่ในทุกที่ (data-anywhere) อย่างไรก็ตาม จำนวนขององค์กรธุรกิจที่ย้ายแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ไปสู่โมเดล หรือรูปแบบของ as-a-Service ยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อย (20 เปอร์เซ็นต์: ประเทศไทย: 12 เปอร์เซ็นต์) แม้ว่า จะมองเห็นโอกาสในการที่จะขยายการให้บริการได้ และเชื่อว่าการดำเนินการในรูปแบบนี้จะช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยโมเดลแบบ on-demand จะช่วยให้ 83 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทย:83 เปอร์เซ็นต์) ของธุรกิจที่กำลังต่อสู้กับอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดต่อไปนี้เพื่อจัดเก็บ วิเคราะห์ และดำเนินการกับข้อมูลได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายสูงสำหรับสตอเรจในการในการจัดเก็บข้อมูล คลังข้อมูลที่ไม่ได้รับการปรับให้เหมาะสม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ล้าสมัย และกระบวนการที่ใช้คนดำเนินการมากเกินกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขาเองได้
ความหวังที่เริ่มมองเห็น
แม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะประสบปัญหาในวันนี้ แต่หลายองค์กรมีแผนที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่า โดยสองในสามตั้งใจที่จะใช้แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML) ในการตรวจจับข้อมูลที่ผิดปกติโดยอัตโนมัติ ขณะที่กว่าครึ่งกำลังพิจารณาที่จะปรับรูปแบบเพื่อใช้ data-as-a-service และวางแผนที่จะมองลึกเข้าไปถึงกลุ่มของประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อการปรับโครงสร้างใหม่ว่าจะประมวลผลและใช้ข้อมูลอย่างไรในอีก 1-3 ปีข้างหน้า
เดลล์ แนะนำว่า มีอยู่สามหนทางที่ธุรกิจสามารถเปลี่ยนภาระด้านข้อมูล (data burden)ให้กลายเป็นข้อได้เปรียบ (data advantage)
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของตนให้ทันสมัยเพื่อให้รองรับข้อมูลที่อยู่ปลายทาง (edge) ซึ่งรวมถึงการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานและแอปพลิเคชันทางธุรกิจมาไว้ใกล้ข้อมูลที่ต้องการจัดเก็บ วิเคราะห์ และดำเนินการ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการสร้างข้อมูลที่หลากหลายในปริมาณมหาศาล โดยใช้โมเดลการดำเนินงานแบบมัลติคลาวด์ที่สอดคล้องกัน
- การเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางของ/ข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสามารถไหลเวียนไปได้อย่างอิสระและปลอดภัยในขณะที่นำ AI/ML มาช่วยเสริมการจัดการ
- การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อมอบประสบการณ์ความเป็นส่วนตัว และในแบบบูรณาการได้ตามที่ลูกค้าต้องการ