TECH

ตำรวจไซเบอร์ จับมือ AIS นำ 12 คดีดังภัยไซเบอร์นำเสนอในรูปแบบใหม่ สร้างความตระหนัก รู้เท่าทันมิจฉาชีพ

วันนี้ (17 พ.ย. 66) พลตำรวจตรี อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS นำทีมแถลงภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทย ผ่านการพัฒนาเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยี และบริการดิจิทัล ควบคู่ไปกับสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะดิจิทัล ด้วยการใช้วิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับผู้คนในแต่ละกลุ่ม และได้ทำงานร่วมกับตำรวจไซเบอร์ค่ายละครโซเชียล 3 ค่ายดัง กุลิฟิล์ม ทีแก๊งค์ และทีมสร้างฝัน ส่ง 12 ละครคุณธรรม จากคดีดังภัยไซเบอร์ ร่วมตีแผ่กลลวงของมิจฉาชีพ พร้อมแนะวิธีการรับมือ ในรูปแบบละครสะท้อนสังคมที่กำลังได้รับความนิยม สนุกเข้าใจง่ายและสามารถเข้าถึงคนไทยในทุกช่วงวัย โดยในส่วนนักแสดงบทบาทตำรวจ ได้รับความร่วมมือจากตำรวจไซเบอร์ที่เป็นตำรวจจริง และผ่านการทำคดีนั้น ๆ มาแล้วจริง ร่วมเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมที่ได้จัดทำในครั้งนี้

พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยไซเบอร์ในปัจจุบันว่า ขณะนี้ภัยไซเบอร์เนี่ยมันเข้ามาสู่ประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นิสิตนักศึกษา กลุ่มคนทำงาน หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนเกษียณราชการ ซึ่งกลุ่มคนเกษียณราชการเมื่อเขาเก็บเงินมาทั้งชีวิต แต่เงินเขาอาจจะหายไปภายในช่วงเวลาแค่นาที เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง จากสถิติตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ขณะนี้มีการรับแจ้งความออนไลน์ไว้ทั้งหมดประมาณ 360,000 คดี คิดเป็นความเสียหายประมาณ 49,000 ล้านบาท ซึ่งเยอะมากที่มาแจ้งความ แต่ก็มีบางส่วนที่เลือกจะไม่เข้ามาแจ้งความเพราะรู้สึกอาย ไม่ว่าจะเป็นคดีการหลอกให้รัก หลอกลงทุน ผู้เสียหายบางคนเป็นถึงผู้บริหารของประเทศก็มี

พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์กล่าวย้ำว่า อยากฝากไว้ 3 ส่วนคือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” อย่างแรกคือ ไม่ว่าจะเป็นคนโทรมาโดยอ้างว่าเป็นหน่วยงานต่าง ๆ อย่าพึ่งเชื่อ อย่างที่ 2 คือ มิจฉาชีพมักหลอกลวงให้เราไปกระทำการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมานั้น อย่าพึ่งรีบ อย่างที่ 3 คือ ไม่โอน การที่เราจะโอนเงินให้กับคนที่เราไม่รู้จักเลย อยากฝากทุกคนให้คิดไตร่ตรองก่อนที่จะโอนเงินไป นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถปรึกษา แจ้งเบาะแส ขอความช่วยเหลือด้านภัยไซเบอร์ได้ที่สายด่วน 1141

ด้านนางสายชลกล่าวว่า จากการทำงานเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลภายใต้ภารกิจของ AIS อุ่นใจ CYBER ทำให้เราเห็นถึงปัญหาจากภัยไซเบอร์ที่ยังมีผู้ไม่รู้เท่าทันตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) พบว่ากลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์สูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากความตั้งใจในการส่งเสริมทักษะการใช้งานดิจิทัลด้วยเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้ว เรายังไม่หยุดที่จะคิดค้น และมองหาวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัล เข้าใจ รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์ จึงเป็นที่มาของแคมเปญสื่อสารในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีที่เราร่วมมือกับ ตำรวจไซเบอร์ และ 3 ค่ายละครโซเชียล นำคดีจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจริง อาทิ หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน หลอกลงทุน ซื้อของจากร้านค้าปลอม ใช้ภาพโปรไฟล์คนอื่น และสวมรอยเพื่อหลอกยืมเงิน มาถ่ายทอดในรูปแบบของละครคุณธรรม หรือละครสั้นสะท้อนสังคม ที่วันนี้ได้รับความนิยม และเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนสูงวัย ด้วยวิธีการเล่าแบบตรงไปตรงมา สนุก สอดแทรกสาระและวิธีการรับมือจากพี่ ๆ ตำรวจไซเบอร์ ที่มาร่วมเป็นนักแสดงในละครคุณธรรมทั้ง 12 ตอน 12 สถานการณ์ อีกด้วย

นางสายชลกล่าวเพิ่มว่า นอกเหนือจากย้ำเตือนสังคมผ่านการสื่อสาร และสร้างการตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์อย่างสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center ให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS มิจฉาชีพได้ฟรี รวมถึงการมีหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ และสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทย

ในขณะที่กำลังแถลงอยู่ ได้มีการแสดงเหตุการณ์จำลอง การได้รับข้อความ หรือรับสายโทรเข้าที่จำลองว่าเป็นลักษณะของมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพื่อสื่อให้เห็นว่าภัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา และยังสามารถเกิดเหตุการณ์ได้กับทุกเพศ ทุกวัยอีกด้วย

ด้านนายณัฐนันท์ เสนาะล้ำ ตัวแทนจาก KULI FILMS ได้กล่าวว่า ละครเป็นกระแส และเป็นที่นิยมมานานแล้วเหมือนกับตอนสมัยเด็ก ๆ นั่งกินข้าวอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เราก็ดูละครกันในตอนเย็น แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปสื่อถูกย้ายจากทีวีหรือโทรทัศน์มาอยู่ในมือมันสะดวกสบายมากขึ้น ในตอนที่กำลังข้อมูลมาทำละครเรื่องนี้ ก็เห็นว่าไซเบอร์เต็มไปหมดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แต่พอสื่อเป็นในรูปแบบของละคร มันเกิดภาพจำได้ง่ายกว่าตัวอักษร เพราะฉะนั้นถ้ามันมีเหตุการณ์ที่ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมจากละครเรื่องนี้ เขาจะระวังภัยมากขึ้น เป็นข้อดีที่ทำขึ้นมาในรูปแบบของละคร การเล่าเรื่องด้วยภาพก็จะเกิดการจดจำมากยิ่งขึ้น แล้วก็สร้างการตระหนักรับรู้ได้เร็วขึ้น และเข้าถึงได้มากขึ้นด้วย

นายสมศักดิ์ แซ่ก่อ ผู้กำกับจาก TGANG กล่าวว่า ครั้งนี้ก็คือมันเกิดความท้าทาย เพราะต้องสื่อสารให้คนดูทุกคนเข้าใจกับกลโกงมิจฉาชีพ เราได้ทำการบ้านร่วมกัน โดยได้ข้อมูลจากตำรวจไซเบอร์ และทาง Ais ทำให้ได้แนวทางที่จะสื่อสารออกมาให้ผู้ชมทุกคนสามารถเข้าใจ และนำไปใช้ได้จริง ได้ไปดูว่าเขาโกงกันในรูปแบบไหนบ้างในปัจจุบัน เขาใช้เครื่องมืออะไรบ้าง จะได้นำมาเขียนบทหรือว่าสร้างเป็นละครคุณธรรมที่เหมาะสม และตรงกับในยุคปัจจุบันมากที่สุด

นานยุทธนา บุญนำมา ผู้กำกับจาก ทีมสร้างฝัน กล่าวว่าขอบคุณทาง Ais และตำรวจไซเบอร์ ที่ให้โอกาสได้ทำคอนเทนต์ที่อยากทำมานานมาก ๆ แล้ว ภัยมิจฉาชีพจากช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา การทำสื่อพวกนี้ออกมามันตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทางผู้ใหญ่อยู่แล้ว พอเขาเห็นเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กับสิ่งที่เขากำลังจะโดน ก็จะทำให้เกิดภาพจำว่าแบบนี้คือกลโกงมิจฉาชีพทางออนไลน์ ซึ่งการผลิตหนังสั้นที่สะท้อนสิ่งที่ยังเป็นปัญหา และก็เตือนภัยใกล้ตัวเรา จะสามารถทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มกัน ไม่ให้คนรอบตัวเราหรือว่าคนในสังคมโดนหลอกได้ง่าย

พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 ตัวแทนจากตำรวจไซเบอร์ที่ร่วมแสดงในละครคุณธรรมได้กล่าวว่า ในการรับบทเป็นตำรวจ เป็นบทที่ต้องฝึกฝนต้องแสดงกันเยอะมากเลย เพราะเป็นตำรวจในความเป็นจริงจะดุกว่าที่แสดงออกไป ด้านบทที่ได้รับผิดชอบ ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เหมือนจริงทุกประการ ล้วนเป็นลักษณะคดีที่เคยรับผิดชอบจับกุมตามอำนาจ และให้คำปรึกษามาเองแล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้การเล่าให้ฟัง อาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่การแสดงละครคุณธรรมผู้ที่ได้รับชมจะเข้าใจถึงเหตุการณ์ในความจริงในการหลอกลวงของคนร้าย

Related Posts

Send this to a friend