ASEAN

โฆษก กต. เผยมีแรงงานไทยอยู่ใกล้ฉนวนกาซา 390 คน

พร้อมรับกลับหากเปลี่ยนใจ ระบุมีญาติติดต่อไม่ได้ 3 คน ยืนยันไม่ทิ้งโอกาสหารือปล่อยตัวประกันในวาระ รมช.กต.อิหร่าน เยือนไทย 22-23 พ.ย.

วันนี้ (17 พ.ย. 66) นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ต่อสื่อมวลชน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงยอดผลกระทบต่อคนไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยัน 39 ราย โดยได้ส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับไทยครบถ้วนแล้ว
  • ผู้บาดเจ็บอยู่ระหว่างรักษาพยาบาล 3 ราย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เยี่ยมคนไทยผู้บาดเจ็บตลอด ไม่มีประเด็นต้องห่วงกังวลว่าจะไม่ดูแล หลังเกิดกระแสข่าวในโซเชียลว่าไม่ดูแลคนไทย
  • ผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน 25 ราย

นางกาญจนา ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันว่า จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลไทยมีการหารือประเด็นการปล่อยตัวประกันนี้ในระดับทวิภาคี กับผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์อิสราเอล-กาซา ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา หรือไม่

“มีเงื่อนไขที่เป็นเงื่อนไขค่อนข้างใหญ่ คือทางฝ่ายฮามาสบอกว่าจะปล่อยตัวประกัน ถ้าอิสราเอลหยุดยิง ฝ่ายอิสราเอลก็บอกว่าไม่หยุด จนกว่าจะปล่อยตัวประกันทั้งหมด ก็เป็นเงื่อนไขไปมาอย่างนั้น แต่ถ้าติดตามสถานการณ์ จะพบว่าสถานการณ์จำกัดอยู่บริเวณรอบฉนวนกาซา และมีการยิงโต้ตอบระหว่างฮิซบอลเลาะห์กับอิสราเอลอยู่บ้าง เราก็รอดูอยู่ว่าจะมีการปล่อยตัวประกันเมื่อไหร่ เพราะจะมีช่วงที่เรียกว่า Humanitarian Pause (การหยุดเพื่อมนุษยธรรม) เป็นช่วงที่หยุดยิงสั้น ๆ ให้มีการส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมหรือเคลื่อนอพยพบ้าง” นางกาญจนา กล่าว

ส่วนกรณีเมื่อวานนี้ (16 พ.ย. 66) คณะทำงานของประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ฮามาสอาจปล่อยตัวประกันคนไทยไม่เกิน 10 วันนี้นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลายฝ่ายพยายามคุยกับอิสราเอลให้หยุดยิง เพื่อปล่อยตัวประกัน แต่ปัจจุบันยังมีเงื่อนไขที่สวนกันไปมา อิสราเอลก็ไม่หยุดจนกว่าจะปล่อยตัวประกัน

“เราก็ยังอยากได้ยินข่าวดี แต่มีเงื่อนไข และมีข้อจำกัดต่าง ๆ อีกมาก และตามอยู่มาก คงต้องติดตามกันต่อไป และอยู่กับความจริง” นางกาญจนา กล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังชี้แจงยอดคนไทยที่อพยพกลับมายังประเทศไทยแล้วประมาณ 8,000 – 9,000 คน ส่วนคนไทยยังอยู่ในอิสราเอลนั้นมีประมาณ 20,000 คน อยู่ในพื้นที่ทะเลทรายอาราวา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประเมินว่า น่าจะปลอดภัย และจรวดคงยิงมาไม่ถึง

ส่วนคนไทยในพื้นที่บริเวณโดยรอบฉนวนกาซา และไม่ประสงค์จะกลับนั้น มีประมาณ 390 คน เนื่องจากเชื่อมั่นในตัวนายจ้าง อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยังติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา หากมีคนไทยเปลี่ยนใจประสงค์จะกลับ ขอให้ติดต่อมายังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ

นอกจากนี้ สำหรับกรณีบุคคลสูญหาย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่า ยังไม่เคยได้รับแจ้งตัวเลข แต่เท่าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ติดตาม ทราบว่ามีจำนวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในสถานการณ์นี้ คือมีคนไทย 3 คน ที่ญาติแจ้งว่า ไม่ได้รับการติดต่อ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศก็จะพยายามติดต่อต่อไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบ ภายหลังการปิดศูนย์พักพิงระยะแรกนั้น มีคนไทยมาขอความช่วยเหลือ รวม 251 ราย ระหว่างวันที่ 4-15 พ.ย. 66 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ สำรองตั๋ว ทำเอกสารเดินทางฉุกเฉิน และนำส่งท่าอากาศยานแล้วรวม 68 ราย ให้คำแนะนำผ่านโทรศัพท์ 156 ราย ให้คำแนะนำผ่านช่องทางโซเชียลอื่น 28 ราย ทั้งนี้ สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการเยียวยาด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังแถลงถึงกรณี นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล มอบเข็มกลัดเชิดชูเกียรติในการประกาศเกียรติคุณและเสื้อที่ระลึก “กงสุลอาสา” ให้กับนางสาววิภาวดี วรรณชัย หรือพี่แจ๋ม ที่ช่วยเหลือแรงงานไทย ในการขับรถรับส่งออกจากพื้นที่สู้รบ จนได้รับความปลอดภัยอีกด้วย

นอกจากนี้ นางกาญจนา กล่าวถึงการเยือนไทยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ด้านการเมืองว่า จะมีกำหนดการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 22-23 พ.ย. 66 ที่ผ่านมาประเทศไทยและอิหร่านได้มีการเยือนระดับสูงกันพอสมควร ตั้งแต่ปี 2559 มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนานกว่า 400 ปีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กับจักรวรรดิเปอร์เซีย

การเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ด้านการเมืองในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินความร่วมมือหลายด้าน ทั้งการค้าและการเมือง รวมถึงสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

นางกาญจนา ยังตอบคำถามของสื่อมวลชนว่า การเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์กับอิสราเอล โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยค่อนข้างเป็นประเทศที่ทุกคนรู้ว่า เรามีความสัมพันธ์กับทุกประเทศ จึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไร

“แน่นอนที่สุด สถานการณ์อิสราเอลคงเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องหารือ ในเรื่องตัวประกัน เราคงไม่ละทิ้งโอกาสที่จะคุยทุกฝ่าย ที่จะช่วยตัวประกันของเราออกมา” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend