ASEAN

โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ย้ำต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่สู่สหพันธรัฐ

พะโด ซอ ตอนี (Padoh Saw Taw Nee) โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) เปิดเผยกับ the Reporters ต่อสถานการณ์การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง โดยระบุว่า อย่างที่เราทราบกันว่า ภายหลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี พ.ศ. 2564 ผู้ก่อการรัฐประหารได้สูญเสียพื้นที่ไปหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง เพราะพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะตามแม่น้ำนั้น KNU ได้ยึดครองไว้ทั้งหมดแล้ว ทุกที่และทุกท่าอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา ขณะเดียวกัน ล่าสุดไม่กี่วันมานี้ ก็ได้มีโอกาสไปเยือนและพบปะกับกำลังพล ทั้งในนครย่างกุ้ง นครมัณฑะเลย์ และเมืองกะลอด้วย ซึ่งก่อนหน้าการรัฐประหาร เราไม่สามารถควบคุมพื้นที่เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสะโตง ซึ่งยากลำบากสำหรับเราที่จะควบคุมพื้นที่ได้ แต่ขณะนี้เราข้ามแม่น้ำมาอีกฝั่งได้แล้วควบคุมในทุกพื้นที่ ดังนั้น นี่จึงเป็นการที่เรายึดคืนพื้นที่ได้อีกครั้ง ขณะที่กองทัพสูญเสียอำนาจในการบริหารลงไป ทั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล จึงถือเป็นเรื่องดีกับเรามาก ที่กองทัพยึดได้เพียงรอบนอกของเมือง ในขณะที่เรายึดคืนสถานที่ต่าง ๆ ได้ นี่จึงถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

”จากประสบการณ์และการสังเกตไม่กี่สัปดาห์นี้ก็กล่าวได้ว่า ทหารผู้ก่อการรัฐประหารได้สูญเสียทั้งสถานที่และพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงอำนาจในการบริหารด้วย เบื้องต้นเรายึดเมืองก่อน แล้วจึงเตรียมการเพื่อฟื้นฟูเมืองต่อไป“ โฆษก KNU กล่าว

พะโด ซอ ตอนี กล่าวว่า แม้จะประเมินพื้นที่ที่ KNU ยึดครองเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ยาก แต่บอกได้ว่า ภายหลังการรัฐประหาร กองทัพสูญเสียทั้งอำนาจการบริหารและดินแดน เพราะพวกเขาไม่อาจเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ดินแดนของเรา แต่เป็นด่านหน้าจากทุกทิศทั่วประเทศ พวกเราไม่อาจควบคุมอะไรได้เลย ซ้ำยังมีปัญหากับการเกณฑ์กำลังพลด้วย ไม่มีใครอยากเป็นทหารอีกแล้ว เพราะพวกเขาเผาบ้านกว่า 8-9 หมื่นหลังทางตอนเหนือของเมียนมา ไม่มีใครอยากจะเข้าร่วมกับกองทัพ อย่างเมื่อวานนี้ (10 ก.พ. 67) พวกเขาประกาศกฎหมายการรับใช้ชาติ กำหนดให้ชายและหญิงที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้ารับราชการทหาร นั่นเพราะกองทัพมีปัญหากับการเรียกพลนั่นเอง

พะโด ซอ ตอนี ยืนยันว่า นี่คือเวลาและสถานการณ์ที่ดีที่สุด ที่กองกำลังชาติพันธุ์จะต่อสู้กับกองทัพพม่า ภายหลังจาก 70 ปีที่ผ่านมา จนเราก่อการปฏิวัติเพื่อชาวกะเหรี่ยงของเรา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ แต่ชาวพม่าซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่กลับร่วมสนับสนุนเราอย่างมาก สนับสนุนการปฏิวัติของเรา เราจึงเห็นว่าหลายปีมานี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว

สำหรับปฏิบัติการของ KNU กับกองกำลังชาติพ้นธุ์กลุ่มอื่นที่ต่อต้านกองทัพพม่านั้น พะโด ซอ ตอนี เปิดเผยว่า พวกเราได้พูดถึงมาหลายปีว่าต้องการความร่วมมือบางอย่างเพื่อการโจมตีโดยเฉพาะ ซึ่งสำคัญกับเรามาก ที่ผ่านมามีคนจำนวนไม่มากที่สนใจในประเด็นนี้ แต่ขณะนี้ เราไม่อาจต่อสู้ด้วยกลุ่มของเราเพียงลำพัง เราจำเป็นต้องประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม อย่างที่มีกลุ่มระหว่างคะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี ฉิ่น และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาในพื้นที่ที่เรายึดครองได้แล้ว เราต่อสู้ด้วยกัน เราจึงคาดหวังว่า ในอนาคตเราจะได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายทางการเมืองของเรา

“เรามองเห็นได้ว่าเราชนะ เพราะนี่เป็นเวลาที่ดีของเรา เป็นโอกาสของเราที่ต้องคว้าไว้ เพื่อจะชนะทุกอย่าง ภายใน 1 หรือ 2 ปีก็ไม่มีใครรู้ แต่เราพูดได้ด้วยความมั่นใจว่าเราชนะ“ โฆษก KNU กล่าว

ภายหลังเกิดปฏิบัติการ 1027 แล้ว พะโด ซอ ตอนี มองว่า ยิ่งชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องมีความร่วมมือกัน เพราะประเทศนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นแค่ชาวพม่า แต่ตั้งขึ้นได้ด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมกัน เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันและต่อสู้กับผู้ก่อการรัฐประหาร นี่จึงชัดเจนกับเราว่า มีสัญญาณว่านี่คือเวลาที่เราจะร่วมกัน เพราะลำพังแต่ละกลุ่มนั้นไม่พอ นี่คือจุดเริ่มต้นสู่ก้าวต่อไปที่เราจะดำเนินการและเอาชนะได้ในที่สุด

ส่วนการเจรจาสันติภาพนั้น พะโด ซอ ตอนี ปฏิเสธว่า เราไม่อาจจัดแยกกันได้ แม้ขณะนี้เราต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา แต่ในขณะเดียวกันในทางการเมือง เราไม่อาจพลาดได้ เพราะความสัมพันธ์ทางการทูต มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวของประชาชน เราก็ยังต้องทำงานกันต่อไปด้วย เพราะเราต้องการแรงกดดันทั้งในและต่างประเทศ ผู้ก่อการรัฐประหารเป็นใหญ่ในประเทศมาหลายปี หากปราศจากความร่วมมือจากระหว่างประเทศและประชาชน เราจึงจะขจัดเขาออกไปได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยทุกช่องทาง ขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ส่งแรงกดดันต่อกองทัพให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เขาได้รับการสนับสนุน อย่างเชื้อเพลิง และทรัพยากรต่าง ๆ

พะโด ซอ ตอนี ย้ำว่า ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี หากไม่มีประชาคมระหว่างประเทศ เราไม่อาจชนะได้เลย แต่หากเราร่วมมือกัน เราชนะ

พะโด ซอ ตอนี เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ แต่จากพื้นฐานประสบการณ์การเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพมากว่า 5 ปี KNU เองเข้าร่วมอย่างแข็งขันมาก ด้วยใจและทรัพยากรทั้งหมดของเราอุทิศให้กับกระบวนการสันติภาพ แต่กระบวนการสันติภาพกลับไม่ถูกยอมรับ และในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารที่ทำลายทุกอย่าง ตอนนี้จึงไม่มีกระบวนการสันติภาพแล้ว แต่เราเชื่อว่า จะมีกระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้อีก โดยที่เรายืนยันในจุดยืนว่า

1.กองทัพต้องออกจากการเมือง

2.กองทัพต้องยอมรับในการปฏิรูปด้านความมั่นคง และรัฐบาลพลเรือน

3.กองทัพต้องยอมรับว่า จะไม่มีการเจรจาเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2008 อีกต่อไป แต่ต้องร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตยฉบับใหม่แทน

4.ภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ที่สำคัญคือกองทัพต้องยอมรับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน จะไม่มีการลอยนวลพ้นผิด เมื่อเขาก่ออาชญากรรมต่อผู้คนจำนวนมากแล้ว พวกเขาก็ต้องรับผิดกับสิ่งที่กระทำด้วย

“พวกเขาต้องเห็นด้วยกับจุดยืนเหล่านี้ มิฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสันติภาพจากไทย จีน หรือที่อื่นใด เราก็ไม่เห็นด้วยทั้งนั้น นี่คือจุดยืนของเรา หากเขายอมรับได้ เราก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ต้องหยุดความรุนแรงทั้งหมด และเห็นด้วยกับเรา”

พะโด ซอ ตอนี ยังมองว่า จากการทำงานและความร่วมมือหลายกลุ่มในพื้นที่ ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะประสบความสำเร็จ แต่หากเราล่าช้าออกไป หรือมีอุปสรรคต่อความร่วมมือกัน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ก็จะกินเวลาออกไปอีก

รายงาน : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend