TECH

เดลล์ เผยองค์กรใน APAC-ญี่ปุ่น มองการพัฒนาความปลอดภัยของข้อมูล และป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์

เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยผลวิจัยดัชนีด้านการปกป้องข้อมูลทั่วโลก หรือ Global Data Protection Index (GDPI) ฉบับการเตรียมความพร้อมกับการโจมตีทางไซเบอร์บนมัลติ-คลาวด์ (Cyber Resiliency Multi-cloud Edition) ย้ำถึงความสําคัญของการยึดมั่นต่อวิถีทางเดิมในการปกป้องข้อมูลในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล ซึ่งการนําทางในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนด้านการปกป้องข้อมูลเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก และต้องการทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อข้อมูลขององค์กร

ความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น และยังอยู่ในอันดับต้น ๆ ของสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด (disruption) โดย 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามในออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รายงานถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่ขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในระยะเวลากว่า 5 ปี นอกจากนี้ ผลกระทบทางการเงินที่มีต่อองค์กรธุรกิจอยู่ในระดับสูง เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

ลูคัส ซอลท์เทอร์ ผู้จัดการทั่วไป Data Protection Solutions เดลล์ เทคโนโลยีส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และ Greater China กล่าวว่า การเติบโตอย่างมหาศาลของข้อมูล ไปจนถึงความต้องการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่เป็นพิเศษ และการทดลองใช้ generative AI ที่เพิ่มมากขึ้น องค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่นจำเป็นต้องดูแลและจัดการในหลาย ๆ ด้านพร้อมกันเพื่อป้องกันข้อมูล

จากแบบสำรวจ ยังพบว่า 76% ขององค์กรที่ตอบแบบสํารวจ วิตกว่ามาตรการปกป้องข้อมูลที่มีอยู่จะไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามจากแรนซัมแวร์ได้ นอกจากนี้ 66% ไม่มั่นใจนักว่าจะสามารถกู้คืนข้อมูลได้กรณีที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ อย่างไรก็ดี องค์กรกว่า 54% ยังคงลงทุนมากขึ้นในการป้องกันทางไซเบอร์มากกว่าการกู้คืน ดังนั้น จึงจําเป็นต้องหาความสมดุลระหว่างการป้องกันและการกู้คืนอย่างรอบคอบ

ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เผยมุมมองเกี่ยวกับการใช้งานและประสิทธิภาพของกรมธรรม์ประกันภัยในการลดความเสี่ยงทางการเงินขององค์กรจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย โดยองค์กร 95% กล่าวถึงการใช้กรมธรรม์ประกันภัยกับแรนซัมแวร์ แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีเงื่อนไขหลายอย่างที่อาจจํากัดความคุ้มครองได้ ยกตัวอย่าง 59% ขององค์กรต้องมีหลักฐานของแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ มี 43% ระบุว่าสถานการณ์บางอย่างทําให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นโมฆะ และ 46% ชี้ว่าการชําระเงินให้กับบางหน่วยงานอาจถูกจำกัดด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดี แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ แต่องค์กรต้องเข้าใจข้อจํากัดของกรมธรรม์เหล่านั้นด้วย

ทั้งนี้ องค์กรไม่ได้นิ่งนอนใจในการเสริมเกราะป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ โดย 50% กำลังนำบริการแบบมืออาชีพเข้ามาเสริมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ 52% ทดสอบการกู้คืนทางไซเบอร์อย่างสม่ำเสมอ และ 42% นำคลังเก็บข้อมูลทางไซเบอร์ (cyber vault) ที่แยกออกจากกันทั้งทางกายภาพและตรรกะจากข้อมูลจริงในการผลิตมาใช้

GDPI ยังสํารวจผลกระทบที่ generative AI มีต่อภูมิทัศน์ของภัยคุกคามทางไซเบอร์ และต่อความต้องการป้องกันข้อมูลในอนาคต โดย 46% เชื่อว่า generative AI จะมอบความได้เปรียบต่อระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กร แต่ 89% ก็เห็นด้วยว่า generative AI มีแนวโน้มที่จะสร้างปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล อีกทั้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูลบางประเภท ซึ่งจำเป็นต้องนำมาพิจารณาเมื่อมีการวางแผนกลยุทธ์การป้องกันข้อมูลในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend