TECH

ฟิลิปส์ เผย วงการเฮลท์แคร์สนใจ การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มโรคล่วงหน้า

แคโรไลน์ คลาร์ค ประธานและรองประธานกรรมการบริหาร ฟิลิปส์ อาเซียน แปซิฟิก หรือ รอยัล ฟิลิปส์ ล่าสุดได้เผยถึงผลสำรวจ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) จากรายงาน Future Health Index (FHI) ประจำปี 2022 ในหัวข้อ “‘Healthcare hits reset: Priorities shift as healthcare leaders navigate a changed world’ ทั้งนี้เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร และบุคลากรแถวหน้า ในวงการเฮลท์แคร์เกี่ยวกับการจัดการ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ อาทิ การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มโรคล่วงหน้าของผู้ป่วย เพื่อช่วยเตรียมความพร้อม ให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก รับมือกับความท้าทาย ของระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ หลังจากเจอกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 สำหรับรายงานผลการสำรวจ Future Health Index 2022 นี้เป็นการจัดทำรายงานเป็นปีที่ 7 โดยฟิลิปส์ ซึ่งในรายงานประจำปี 2022 นี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 3,000 คน จาก 15 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ฯลฯ

แคโรไลน์ กล่าวว่า “เพื่อการเข้าถึงและใช้งานข้อมูล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา หลังจากที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายงานในปีนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหาร และบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่ให้ความสำคัญ กับเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญ คือ เนื่องจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการสนับสนุนจากบุคลากร การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ยังต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของบุคลากร ดังนั้นปัญหาด้านการจัดการข้อมูล Data Silo การฝึกอบรมและให้ความรู้กับบุคลากร จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการรักษาบุคลากรด้านเฮลท์แคร์เอาไว้ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ของระบบสาธารณสุข ที่ต้องการในระดับภูมิภาค”

ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญ ของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ แนวโน้มล่วงหน้าภายใน 3 ปี โดยร้อยละ 55 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ ได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมากในเทคโนโลยี AI ในขณะที่ร้อยละ 82 คาดการณ์ว่าการลงทุนด้าน AI จะเป็นการลงทุนมากที่สุดภายใน 3 ปีข้างหน้า และเมื่อสำรวจถึงจุดประสงค์ ของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI พบว่าลงทุนเพื่อใช้สนับสนุนการวินิจฉัย ด้านคลินิกมากที่สุดถึงร้อยละ 35 รวมถึงการใช้งานเพื่อวินิจฉัย หรือให้คำแนะนำในการรักษา การส่งสัญญานเตือนล่วงหน้า การตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ และแนวทางการตัดสินใจด้านคลินิก นอกจากนี้ยังต้องการใช้เทคโนโลยี AI ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ถึงร้อยละ 34 และใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล การวินิจฉัยร้อยละ 33 ตามลำดับ

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอนโยบาย เกี่ยวกับ ‘โครงการอนาคตแห่งประเทศไทยสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และการดูแลสุขภาพขั้นสูงในปี (The future of Thailand towards holistic wellness care and advanced health promotion) พ.ศ. 2566-2570’ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI การคาดการณ์โรคล่วงหน้า (Health Prediction) และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน ของการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการ และการเข้าถึงบริการของประชาชน ในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแบบจำเพาะและแม่นยำ

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาล และสถานบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ สู่การเป็น ‘Smart Hospital’ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับประสบการณ์การรักษาที่ดีให้แก่ผู้ป่วย โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ในไตรมาส 4 ปีพ.ศ. 2564 พบว่ามากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยบริการทั้งหมด ได้พัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospital แล้ว

ในรายงาน Future Health Index ยังแสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุข ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า มาใช้บ้างแล้ว โดยมากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 27) ของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล นั้นเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 44 กำลังอยู่ในระหว่าง การเตรียมความพร้อมในการใช้งาน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 32 และเมื่อถามถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า มาใช้ในส่วนใดที่มีประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 91 บอกว่าใช้ในด้านคลินิก ในขณะที่ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้า ในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีระดับความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 87 (เทียบกับทั่วโลกร้อยละ 71) ในการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ แนวโน้มล่วงหน้าเชิงคลินิก และยังเห็นว่าเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า มีประโยชน์ต่อการบริการผู้ป่วยถึงร้อยละ 87 ผลลัพธ์ด้านสุขภาพร้อยละ 84 และมีผลที่ดีต่อประสบการณ์ ของบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 82

ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะตระหนัก ถึงความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศ และประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงคลินิก แต่ระดับความรู้และการรับรู้ ถึงวิธีการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ยังคงขาดแคลนและเหลื่อมล้ำในภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าครึ่ง(ร้อยละ 55) ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยว่าพวกเขาไม่ทราบถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 35 ยกตัวอย่าง ในอินโดนีเซียมีเพียงร้อยละ 7 ของบุคลากร ที่บอกว่าพวกเขามีความเชี่ยวชาญมากพอ ที่จะนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ แต่ในสิงคโปร์และออสเตรเลีย บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการ ใช้ข้อมูลสารสนเทศมีถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าในภูมิภาคนี้ ควรมีการแบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างประเทศมากขึ้น

จากเทรนด์ข้างต้นส่งผลให้ร้อยละ 45 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้า ในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 49 ในภูมิภาคอาเซียน มีการลงทุนด้านการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเฮลท์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้โซลูชั่นการเฝ้าติดตามผู้ป่วยทางไกล ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการขยายขอบเขต การดูแลรักษานอกโรงพยาบาล โดยร้อยละ 19 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้า ในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 21 ในภูมิภาคอาเซียน เผยว่าการลงทุนในเรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน และร้อยละ 26 ในทั้งสองภูมิภาค กล่าวว่าการลงทุนด้านนี้ จะสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

Related Posts

Send this to a friend