ดีป้า จัดแข่งขัน บิน–ซ่อมโดรนเกษตรชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเวทีประชันทักษะการบินและการซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร ชิงแชมป์ประเทศไทย ในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ในโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท จัดขึ้นที่สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายสามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการแข่งขัน
นายสามารถ กล่าวว่า นครราชสีมามีเกษตรกรราว 500,000 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรกว่า 8 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง ข้าว และอ้อย ส่งผลให้นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่อง ซึ่งการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้สามารถยกระดับการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า การแข่งขันมีจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยให้มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะ โดยการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดูแลพืชผล เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทักษะและต่อยอดศักยภาพของนักบินโดรน และช่างซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรจากทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โดรนเพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับการยกระดับมาตรฐาน dSURE การันตีด้วยการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล ซึ่งในปี 2568 ดีป้า พร้อมสานต่อการส่งเสริมให้กลุ่มชุมชนและเกษตรกรประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่นนอกเหนือจากโดรนเพื่อการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี IoT และ Cloud Computing ที่จะนำมาใช้ร่วมกับเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงรถแทร็กเตอร์ที่มีการติดตั้งระบบ GPS และรองรับการควบคุมผ่านสัญญาณ 5G ที่จะนำมาใช้บริหารจัดการแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต
ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมจัดการแข่งขันรอบคัดเลือก ระดับภูมิภาคใน 5 ภูมิภาค จนได้ทีมที่ผ่านเข้ารอบรวม 131 ทีมมาร่วมชิงชัยในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 โดยแบ่งเป็นการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร 100 ทีม และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 31 ทีม ซึ่งผลการแข่งขันแบ่งเป็น
1.ทีมผู้ชนะการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมโดรน เอไอ รับถ้วยพระราชทานฯ เหรียญทอง พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ได้แก่ ทีมบัซซ์ไดร์ฟ รับเหรียญเงิน พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมสุกี้รวมมิตร รับเหรียญทองแดง พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท
2.ทีมผู้ชนะการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมโดรน เอไอ รับถ้วยพระราชทานฯ เหรียญทอง พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ได้แก่ ทีมโดรนเกษตรตีสาม รับเหรียญเงิน พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมสิงห์เหนือแพร่ 01 รับเหรียญทองแดง พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท