TECH

“เอ็นไอเอ” พาเปิด 12 นโยบายนวัตกรรมในฝัน จาก‘เสียงของประชาชน’

สำนักงานนวัตกรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม Hack Thailand 2575 เพื่อเปิดโอกาสรับฟังเสียงจากประชาชน ร่วมกับว่าที่ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยง ให้เกิดการส่งต่อนโยบายในฝัน และให้ทุกคนร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศ 12 ประเด็นหลัก ที่ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน ที่มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อสะท้อนอนาคตแบบไหน ที่คนไทยอยากเปลี่ยน เพื่อให้สิ่งที่จะสร้างออกมาตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยเหลือประชาชนได้มากที่สุด ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีโอกาส เข้าไปเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำไปปรับใช้ และทำให้สังคมวิถีประชาธิปไตยเกิดขึ้น ในแวดวงนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “การส่งต่อนโยบายนวัตกรรมในฝัน ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อน “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน การศึกษา สื่อมวลชน ประชาสังคม ฯลฯ หรือที่เรียกว่า Stakeholder สามารถเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการคิด วางแผน ออกแบบ และสร้างกระบวนการนโยบายร่วมกัน NIA จึงได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม Hack Thailand 2575 ที่เปิดโอกาสรับฟังเสียงจากประชาชนร่วมกับว่าที่ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล เสมือนเป็นเวทีเชื่อมโยงให้เกิดการส่งต่อนโยบายในฝัน และให้ทุกคนร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศ 12 ประเด็น 6 ด้าน ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้พบว่า ถ้า “ประชาชน” เป็นผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมให้กับพรรคการเมืองได้ สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่”

1.ด้านสังคม ภายใต้โจทย์ หยุดความรุนแรงแฝงเร้นในสังคมไทย จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะมีภาพจำว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว กับระบบการให้ความช่วยเหลือที่แยกออกจากกัน จึงเกิดเป็น “นโยบาย: รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิด และสร้างระบบฐานข้อมูล สำหรับจัดการปัญหาในการส่ง เรื่องซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ช่วยให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ส่วนอีกโจทย์คือ Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพิ่มศักยภาพเมือง เกิดเป็น “นโยบาย: พื้นที่สร้างสรรค์โอกาสของทุกคน” ทำให้ประชาชนมองเห็น การเพิ่มโอกาสในพื้นที่สีเขียว จากอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของภาครัฐ มาปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดสถานสร้างสุขภาพสำหรับการพักผ่อนให้กับประชาชน

2.ด้านเศรษฐกิจ กับโจทย์ ‘ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เกิดเป็นนโยบาย: 4 เปิดคือ เปิดพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชน เปิดช่องทางการค้าและการลงทุน เปิดตลาดข้อมูลเพื่อให้ประชาชนพัฒนาสินค้า ให้ตรงกับความต้องการ และเปิดใจรับฟังความแตกต่างเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ส่วนโจทย์ ‘แก้หนี้แก้จน’ อีกหนึ่งปัญหาสังคมที่ฝังรากลึกมานาน มีการเสนอนโยบาย: สถาบันบริหารจัดการการเงินภาคประชาชน โดยให้ภาครัฐสร้าง Big Credit Data สำหรับรวบรวมข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อ พร้อมให้ความช่วยเหลือในระดับจุลภาค ผ่านแอปฯ หมอเงินที่จะมีแหล่งเงินทุน และแผนฟื้นฟูหนี้ให้แต่ละคนอย่างเป็นระบบ

3.ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กับโจทย์ ‘เศรษฐกิจขยะ’ มีการเสนอนโยบาย: Thailand Zero Waste ที่ต้องเริ่มปรับตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มความรับผิดชอบในฝั่งเอกชน ตั้งแต่การผลิต ส่วนภาคประชาชนเสนอ ให้มีระบบทิ้งมากจ่ายมาก อีกโจทย์ที่กำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ ‘อากาศสะอาดหยุด PM 2.5’ มีการนำเสนอ นโยบาย: พื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ป้องกันปากท้อง สุขภาพ หรือเสนอให้มีการควบคุมผู้ก่อมลพิษ ผลักดันกฎหมายให้มีการชดเชยไปจนถึงกำหนดตัวแทน เพื่อเข้าไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน

4.ด้านสาธารณสุข จากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายใต้โจทย์ ‘Active Aging: Oldy Health Society’ มีการเสนอนโยบาย: สูงวัยใจสะออน การทำให้มีสถานบริการสุขภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดโอกาสให้คนวัยเก๋า สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง พัฒนากองทุนส่วนบุคคลสำหรับคนสูงวัย ปิดท้ายด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยทั้งในและนอกบ้าน นอกจากนี้ยังควรแก้ปัญหาระบบประกันสังคม จากโจทย์ ‘Wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม’ เกิดเป็นนโยบาย: แฮกกองทุนประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประชาชนทุกคน โดยเกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงานอื่น มาลงทุนด้านสุขภาพ ปรับงบสมทบ สิทธิประโยชน์และทำการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล

5.ด้านการศึกษา กับโจทย์ ‘ติดปีกครูไทย’ เกิดเป็นนโยบาย: ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบเพื่อให้แม่พิมพ์ของชาติ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดงานซ้ำซ้อน จ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม ไปจนถึง โจทย์ ‘คนไทย 3 ภาษา’ ที่ต้องการแปลงโฉมหลักสูตร ผ่านนโยบาย: พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา โดยเพิ่มทางเลือกภาษาที่สมารถนำมาใช้ สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น ภาษาโปรแกรมมิ่ง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง

6.ด้านระบบราชการ กับโจทย์ ‘รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน’ มีการนำเสนอนโยบาย: หยุดผลาญงบประมาณชาติ เปิดพรมเก็บกวาด ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อปรับให้เกิดการทำงานที่โปร่งใส เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เป็นหูเป็นตา ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และโจทย์ ‘รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย’ ที่มาจากความต้องการให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ต้องการให้มีการเปิดรับกลุ่มคนหลากหลาย เข้าไปในสภามากขึ้น จึงเกิดเป็นนโยบาย: สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ

“ทั้งหมดนี้เป็นเพียงนวัตกรรมเชิงนโยบาย ของประชาชนบางส่วน ที่ได้จากกิจกรรมที่จัดขึ้น ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนอีกมากที่ ต้องการพื้นที่รับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งการจะผลักดันให้นโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชน กลายเป็นนโยบายของประเทศที่เกิดขึ้นจริงได้”

Related Posts

Send this to a friend