SOCIAL RESPONSIBILITY

เชื้อเพลิงชีวมวลจากใบอ้อย: พืชพลังงานทางเลือกจากเกษตรกรไทย ลดปัญหามลภาวะ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำในปีนี้ เป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งภัยแล้งที่ยาวนาน แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามมา
นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “สอน. มีพันธกิจหลักในการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เราจึงส่งเสริมการทำไร่เกษตรแบบสมัยใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ และสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลในการทำเกษตร เช่น การนำอุปกรณ์รถตัดอ้อย-สางอ้อยมาใช้เก็บเกี่ยว ตลอดจนส่งเสริมให้มีการเก็บใบอ้อยนำไปขายทำเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการเผา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณค่าอ้อยได้สูงสุดแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ที่สำคัญยังลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความยั่งยืนทั้งในภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศตามมา”

ทั้งนี้ จากการคำนวนปริมาณใบอ้อยคงเหลือกว่า 12 ล้านตัน เมื่อนำไปขายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล ในราคาตันละ 500 บาท จะสามารถสร้างเม็ดเงินเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาทกลับสู่เกษตรกรโดยตรง และยังก่อให้เกิดการจ้างงานจากการเก็บใบอ้อย สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มอีก 6,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12,000 ล้านบาทที่ถูกป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และจะนำไปสู่เม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า (ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) รวมเป็นกว่า 60,000 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ใบอ้อยเหล่านี้ เมื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 400 เมกะวัตต์ เพื่อขายเข้าสู่ระบบในระดับราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากรัฐรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่ม จะสามารถลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า และแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากการเผาอ้อยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่ากลุ่มมิตรผลได้พัฒนาพลังงานไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้ภายในโรงงานเองโดยนำชานอ้อย ใบอ้อย และสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ และไฟฟ้าส่วนหนึ่งยังขายให้กับภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร ชุมชนและสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

นายไกรฤทธิ์ วงษ์วีระนิมิตร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง

ด้านนายไกรฤทธิ์ วงษ์วีระนิมิตร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง ในฐานะตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สนับสนุนแนวคิดนี้ กล่าวว่า “ในขณะที่มีการรณรงค์หยุดเผาอ้อย ถ้าเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากใบอ้อยที่ปกติพวกเขาจะเผาทิ้ง ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเลิกเผา ลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ลงได้ ในฐานะนายกสมาคมฯ ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยเผา และได้นำใบอ้อยไปขายให้โรงงานน้ำตาลทำเชื้อเพลิงชีวมวล ผมพยายามส่งเสริมให้พี่น้องชาวไร่อ้อยเลิกเผา และเปลี่ยนมาทำไร่เกษตรสมัยใหม่ซึ่งจะช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้อีกมาก ผมเองก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผลผลิตอ้อยจากไร่ของเราถูกนำไปต่อยอดอย่างคุ้มค่า เป็นพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่จะสร้างคุณค่าและความมั่นคงให้กับสังคม”    

Related Posts

Send this to a friend