Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มชั้นนำของประเทศไทย อาทิ ดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (การีนา) อีคอมเมิร์ซ (ช้อปปี้) และบริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (แอร์เพย์) เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ ’10 in 10 initiative’ ของกลุ่ม Sea ที่มุ่งสร้าง ‘Digital Talent’ 10 ล้านคน ภายใน 10 ปี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน Sea (ประเทศไทย) ได้ริเริ่มความร่วมมือระหว่าง 3 แวดวง ‘การศึกษา-ผู้สร้างสรรค์สื่อ-ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ ในโครงการ ‘ของขวัญจากพ่อ’ (Gifts from Dad) ซึ่งเป็นโครงการประกวดออกแบบบอร์ดเกมเพื่อสร้างวิธีการเรียนรู้ผ่าน ‘เกมมิฟิเคชั่น’ (Gamification) เร่ง ‘Learning Curve’ สร้างความเข้าใจ กระตุ้นการจดจำ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้ในสภาวะสังคมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสถานการณ์จำลอง (Simulation)
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการของขวัญจากพ่อและการผลักดันการเรียนรู้ผ่านเกมมิฟิเคชั่นบนความร่วมมือครั้งนี้ว่า “Sea (ประเทศไทย) ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อถ่ายทอดพระราชดำริและองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 มอบไว้ให้คนไทย ไปสู่เยาวชน เนื่องด้วยมองเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเรามุ่งที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้าน ‘เกมมิฟิเคชั่น’ หรือการใช้กลไกของเกมเป็นตัวผลักดันธุรกิจ เข้ามาเป็นแกนของการส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าวในกลุ่มคนรุ่มใหม่ ผ่านสื่อความบันเทิงอย่างบอร์ดเกม ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่และเข้าถึงได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาสูง ทั้งยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะและความคิดภายในกลุ่มผู้เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ”
“นอกจากการนำเสนอความรู้ไปสู่ผู้เล่นบอร์ดเกมแล้ว Sea (ประเทศไทย) ยังมุ่งสร้างทักษะแห่งอนาคตในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย อาทิ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นลำดับ การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ ตลอดจนทักษะเฉพาะทาง อาทิ การดีไซน์สื่อสร้างสรรค์และการบูรณาการหลักเกมมิฟิเคชั่นเข้ากับเนื้อหาประเภทต่างๆ อีกด้วย“ นางสาวมณีรัตน์ กล่าวเสริม
เป้าหมายสำคุญของโครงการฯ คือ การสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาและเครื่อข่ายผู้พัฒนาบอร์ดเกม รวมถึงหน่วยงานรัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในทุกๆ ขั้นตอน กับทุกๆ กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างหรือผู้เล่น ดังนั้น โครงการของขวัญจากพ่อ จึงมุ่งดำเนินการบนความร่วมมือของแวดวง ‘การศึกษา-ผู้สร้างสรรค์สื่อ-ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ และสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐต่างๆ อาทิ มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อมุ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลากหลายกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ‘กลุ่มผู้เข้าแข่งขัน’ ซึ่งจะได้รับการแนะนำจาก Sea (ประเทศไทย) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Innovative Digital Design จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงบอร์ดเกม ในศาสตร์การบูรณาการ ‘เกมมิฟิเคชั่น’ เข้ากับเนื้อหาประเภทต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานสาขาต่างๆ หรือการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ด้าน ‘กลุ่มนักศึกษา’ ในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกม จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งจะได้ประสบการณ์จริงจากการนำผลงานการแข่งขันไปพัฒนาต่อเป็น ‘ดิจิทัลบอร์ดเกม’ กลุ่มสุดท้ายคือ ‘กลุ่มผู้เล่น’ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความพอเพียงและยั่งยืน ผ่านบอร์ดเกมเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยบอร์ดเกมจากโครงการฯ ของขวัญจากพ่อ จะถูกกระจายไปยังโรงเรียนที่ร่วมโครงการ ศูนย์การเรียนรู้ และร้านบอร์ดเกมต่างๆ รวมกว่า 100 แห่ง อีกทั้งมีการพัฒนาเป็นรูปแบบ Print & Play และเปิดให้ดาวน์โหลดเพื่อนำไปเล่นและเรียนรู้ได้บน เว็บไซต์โครงการฯ
นายพีรัช ษรานุรักษ์ ตัวแทนจากทีม Wizards of Learning หนึ่งในผู้พัฒนา Pizza Master บอร์ดเกมไทยที่โด่งดังไกลระดับนานาชาติ กล่าวว่า “Wizards of Learning มีเป้าหมายที่จะบูรณาการเกมและงานออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้และเกิดประโยชน์ต่อสังคม การร่วมมือกับ Sea (ประเทศไทย) ครั้งนี้เป็นอีกโอกาสดีที่กลุ่มผู้สร้างสรรค์บอร์ดเกมและสื่อสร้างสรรค์ อาทิ Wizards of Learning, Board Game Night และลานละเล่น จะได้สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างการเรียนรู้ และมองว่าความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครื่อข่ายการใช้สื่อสร้างสรรค์เพื่อยกระดับการสื่อสารเนื้อหาที่มีประโยชน์สู่สังคม ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต”
สำหรับปี 2562 โครงการประกวดออกแบบบอร์ดเกม ‘ของขวัญจากพ่อ’ ปีที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘ร่วมพัฒนา รักษ์ป่าอย่างยั่งยืน’ มุ่งใช้บอร์ดเกมและเกมมิฟิเคชั่นเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ หลังจากที่ใน 2 ปีที่ผ่านมา การประกวดภายใต้หัวข้อ ‘เรียน เล่น รู้ คู่การเกษตร’ และ ‘จัดการน้ำเพื่อชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์’ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยผลงานของทีมผู้ชนะในปีนี้ได้แก่ เกม ‘The Forrest Theory – ทฤษฎีสร้างป่า’ จากทีม TWERQ โดยเป็นเกมที่ผู้เล่นทุกคนต้องสวมบทบาทเป็นนักอนุรักษ์ป่ารุ่นใหม่ ที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ฟื้นฟูป่าในพื้นที่ต่างๆ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยจะต้องใช้องค์ความรู้เรื่องป่าไม้ที่สำคัญ 2 ปะการ ได้แก่ ‘การปลูกป่าโดยการปลูก’ และ ‘การปลูกป่าโดยไม่ปลูก’ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้คนไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นยังจะต้องเรียนรู้ถึงความสำคัญและร่วมมือกับบุคลากรสำคัญอย่าง ‘ทีมผู้พิทักษ์ป่า’ เพื่อป้องกัน ฝ่าฟัน และแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ที่พร้อมจะทำให้พื้นที่ป่าลดลงได้ทุกเมื่อ ทั้งหมดนี้เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญว่า การอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน
นายธนพล ทับจันทร์ ตัวแทนจากทีม TWERQ ผู้สร้างสรรค์เกม ‘The Forest Theory – ทฤษฎีสร้างป่า’ ผลงานชนะเลิศจากโครงการของขวัญจากพ่อ ปีที่ 3 เผยว่า “ทีม TWERQ เข้าร่วมโครงการของขวัญจากพ่อ ปีที่ 3 เนื่องจากเล็งเห็นว่าบอร์ดเกมเป็นอีกกระแสที่มาแรงในปัจจุบัน และการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของแนวคิดหรือทฤษฎีนั้นๆ ทั้งยังต้องมอบความสนุกให้กับผู้เล่นในขณะเดียวกัน มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ทีมเราได้ใช้ความถนัดของทุกคนในทีม ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบกราฟฟิก การผลิตสื่อการสอน และการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อสร้างเกมนี้ขึ้นเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ถึงองค์ความรู้เรื่องป่าไม้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างสุดความสามารถ”
“พวกเรามีความยินดีเป็นอย่างมากที่เกม ‘The Forest Theory – ทฤษฎีสร้างป่า’ ได้รับเลือกให้เป็นผลงานชนะเลิศ ซึ่งจะถูกพัฒนาและผลิตเป็น Box Set เพื่อกระจายไปยังโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในฐานะสื่อการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่นอกจากพวกเราจะได้เปิดมุมมองทางด้านการออกแบบและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอเรื่องราวดีๆ ผ่านสื่ออย่างบอร์ดเกมให้เข้าใจง่ายและสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เล่นแล้ว ทีมเรายังมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตอกย้ำว่าการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว เพียงแค่เราบูรณาการผสมผสานไอเดียเข้าไปในสื่อต่างๆ รอบตัวเรา แม้แต่เกมที่คนส่วนมากมองว่าเป็นของเล่นที่ให้ความสนุกเพียงอย่างเดียว ก็สามารถให้ความรู้ได้ไม่แพ้สื่อชนิดอื่นๆ” นายธนพล กล่าวเสริม
ผลงานผู้ชนะ 4 อันดับแรกจากโครงการของขวัญจากพ่อ ปีที่ 3 ประกอบไปด้วย เกม “The Forest Theory” จากทีม TWERQ, เกม “Guardian of the Forest” จากทีม Lava Little Bird, เกม “Little Forest” จากทีม AA101 และเกม “Forestation” จากทีม MY จะถูกพัฒนาต่อเป็นบอร์ดเกมในรูปแบบ Print & Play ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดได้ในช่วงต้นปี 2563 ทางเว็บไซต์โครงการของขวัญจากพ่อ (Gifts from Dad)
Send this to a friend