PUBLIC HEALTH

UNODC เผย โควิดกระตุ้นตัวเลขค้ายาเสพติดผ่านตลาดมืดออนไลน์

เพิ่ม 85% ขณะที่ไทย มีสถิติจับยึดเมทแอมเฟตามีน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

วันนี้ (27 มิ.ย. 65) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดตัวรายงานยาเสพติดโลก ประจำปี ค.ศ.2022 (UNODC World Drug Report 2022) เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายนของทุกปี เพื่อนำเสนอสถานการณ์ แนวโน้ม และบทวิเคราะห์ตลาดยาเสพติดโลก ทั้งในมิติการผลิต การลักลอบค้า และการใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวันต่อต้านยาเสพติดโลก

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ยาเสพติดเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ส่งผลต่อพัฒนาการของการผลิต รูปแบบการค้าของกลุ่มนักค้าหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการใช้ยาเสพติดในกลุ่มต่างๆ โดยประเทศไทยได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนแนวนโยบายยาเสพติดครั้งสำคัญของประเทศ ให้โอกาสกลุ่มผู้ใช้ผู้เสพ ในฐานะผู้ป่วย อาศัยมาตรการทางสาธารณสุขในการให้ความช่วยเหลือควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมุ่งเน้นการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ผลิต นักค้ายาเสพติด หรือกลุ่มองค์กรอาชญากรรมรายสำคัญ ผ่านการใช้มาตรการยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ซึ่งในปีนี้ สามารถยึดอายัดทรัพย์สินได้ 8,453 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท

นายอินชิค ซิม นักวิจัยอาวุโส UNODC ได้นำเสนอสถานการณ์ยาเสพติดตลอดปี 2564 ว่า 1 ใน 18 ของประชากรทั่วโลก ใช้ยาเสพติดสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดใน 10 ปีก่อน ส่วนประเด็นที่น่ากังวลคือ สัดส่วนของเยาวชนผู้ใช้ยาเสพติดสูงกว่าระดับผู้ใหญ่ ขณะที่สถานการณ์โควิด19 ส่งผลให้ตลาดยาเสพติดฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การค้ายาเสพติดผ่านตลาดมืดออนไลน์หรือเว็บลับ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่โอกาสในการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด กลับลดลงภายหลังมาตรการการล็อคดาวน์

สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา มีการจับกุมเมทแอมเฟตามีน ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 88 ของการจับกุมในภูมิภาคฯ โดยประเทศไทยมีสถิติการจับยึดเมทแอมเฟตามีนได้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก นักวิจัยจึงแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ โดยเฉพาะหลังพบข้อจำกัดในการจับยึดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ผลิตยาเสพติดจากกลุ่มดังกล่าว

Related Posts

Send this to a friend