คสช. เตรียมเสนอ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ สู้โรค NCDs หลังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่มีสาระสำคัญในการพัฒนา 5 ระบบและกลไกที่สนับสนุนให้เกิด 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ โดยประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกการคลัง และกลไกเครดิตทางสังคม
ที่ประชุม คสช. ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอมติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาบรรจุเป็นนโยบายและแผนเพื่อดำเนินการตามบทบาทภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เปิดเผยว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนไทย คิดเป็น 81% ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือมากกว่า 4 แสนรายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี และจะยิ่งมีความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น เพราะคนที่ป่วยด้วยโรค NCDs เริ่มมีช่วงอายุที่ต่ำลง
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพฯ ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เข้าร่วมกว่า 200 หน่วยงาน/คน บนเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 โดยร่วมกันเป็นหุ้นส่วนและเครือข่ายในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม การมีกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ ลดปัจจัยเสี่ยง ลดการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน จะดำเนินการควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) เพื่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม
มติสมัชชาสุขภาพฯ เน้นที่การนำหลักการใหม่ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลนำไปสร้างการสะกิดง่าย ๆ เพื่อให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น การวางผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอยู่ในชั้นวางสินค้าระดับสายตา เพื่อให้คนรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีหลักการ ‘กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ’ เช่น หากองค์กรทำให้บุคลากรสามารถลดน้ำหนัก หรือเกิดพฤติกรรมทางกาย จะให้แรงจูงใจทางภาษี ตลอดจนหลักการ ‘กลไกเครดิตทางสังคม’ อาจจะเป็นกลไกอย่างแคลอรี่เครดิต หากต่อยอดไปใช้วัดในระดับองค์กร จะกลายเป็นเครดิตหรือหลักทรัพย์ของบริษัท
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า มตินี้ยังระบุถึงอีก 5 มาตรการหลักที่เป็นรูปธรรม ได้แก่
1.ลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น การจำกัดเวลาจำหน่ายและโฆษณาเหล้า บุหรี่
2.ส่งเสริมการผลิตและเข้าถึงสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การนำสินค้าเหล่านี้ไปให้เข้าถึงได้ง่ายในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก
3.สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อให้ประชาชนสามารถออกกำลังกายได้ง่าย ซึ่งอาจยังมีความเหลื่อมล้ำในแต่ละจังหวัดอยู่
4.สร้างความตระหนัก รอบรู้ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ถูกต้องและเหมาะสม
5.เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีประสบการณ์ ได้สัมผัสกับกิจกรรมอย่างการใช้งานแอปฯ แคลอรี่เครดิต เป็นต้น
ที่ประชุม คสช. ยังให้ข้อเสนอแนะถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาในเชิง Negative อย่างการบังคับใช้หรือมีบทลงโทษที่ชัดเจน ช่วยให้เกิดผลที่รวดเร็วตาม, เสนอให้มีการรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ในเบื้องต้น ที่เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย, แก้ไขข้อระเบียบของท้องถิ่นที่ติดขัด ซึ่งกรรมการพัฒนานโยบายฯ ได้รับไว้เป็นข้อเสนอแนะนำไปพิจารณา