ปลัด สธ.ยันปริมาณเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยสีเขียว
ปลัด สธ.ยืนยันปริมาณเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วย บอกส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ป่วยสีเขียวครองเตียง ลั่น หากไม่ปลดโควิดพ้น UCEP อาจดันออกโรคประจำถิ่นไม่ได้ ชี้ คนไทยกว่าร้อยละ 99 มีสิทธิรักษาอยู่แล้ว
วันนี้ (23 ก.พ. 65) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งชะลอ และทบทวนการปรับโรคโควิด-19 ออกจากยูเซ็ปหรือสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ว่า ตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าเหตุใดจึงต้องชะลอออกไป ขอให้ไปถามทาง ครม. เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตามที่คณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณา
ส่วนเหตุผลทำไมจึงต้องมีการปรับรูปแบบ ที่ผ่านมาเราเพิ่งรู้จักโควิดและสภาพการระบาดค่อนข้างรุนแรง มีการป่วยตายจำนวนมากในช่วงแรก เพราะพื้นที่ กทม. กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแล เตียงส่วนใหญ่จะเป็นของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน และเตียงของภาครัฐไม่พอ จึงมีการประกาศให้เป็นโรคฉุกเฉิน เมื่อมีการติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปตามสิทธิ แต่จริงๆ แล้วคนไทยกว่าร้อยละ 99 มีสิทธิอยู่แล้ว เพียงแต่หากมีการยกเลิก UCEP ก็ไปรักษาตามสิทธิ แต่ขณะนี้ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าแล้วความรุนแรงของโรคก็ลดลง การเจ็บป่วยร้ายแรงก็ลดลง ซึ่งจากที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูเตียง พบว่ากว่าร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ส่วนผู้ป่วยเหลืองและแดงใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนเตียงที่มีอยู่ก็คิดว่าน่าจะมีเตียงที่เพียงพอ ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงยังคงรักษาในระบบ UCEP ได้ แต่เพื่อความรอบคอบและปลอดภัยจึงมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวน ส่วนจะมีการเสนอกลับมาเมื่อใดตนยังไม่ทราบ เพราะเพิ่งจะนำกลับไปเมื่อวาน และยังไม่ได้นัดประชุม
พร้อมกันนี้มองว่าการที่ถูกเลื่อนออกไปจะไม่ส่งผลกระทบอะไร และผู้ป่วยไม่ได้นอนเตียง แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการมากกว่า ซึ่งวันนี้ตนจะเสนอให้ที่ประชุมศบค.รับทราบถึงสถานการณ์เตียงในปัจจุบัน
ส่วนเหตุปัจจัยที่จะนำโควิดออกจาก UCEP เกี่ยวกับปัจจัยเรื่องงบประมาณหรือไม่ นายแพทย์เกียรติภูมิ ยืนยันว่า ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเป็นแผนที่จะทำให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในต่างประเทศก็ดำเนินการไปเยอะแล้ว และขณะนี้เองก็ยังไม่ได้มีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไก หากโควิดยังเป็นโรคฉุกเฉิน อยู่ก็จะเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเองก็มีการผลักดันให้รักษาตัวเองที่บ้านหรือ Home isolation หรือ Community isolation ซึ่งเป็นการดูแลมากกว่าการรักษา และผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น เพราะประเทศไทยไม่ได้มีโควิดโรคเดียวโรคอื่นก็ยังมีอีกมากก็ต้องดูแลรักษากันไป
ส่วนจะต้องมีการประสานให้โรงพยาบาลสนาม กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ ระบุว่า ขณะนี้ยังมีปริมาณเตียงเพียงพอ ยืนยันว่าแผนการรองรับระบบ Home isolation และ Community isolation ยังเพียงพออยู่ โดยขอให้ไปย้อนดูในพื้นที่ต่างจังหวัดและระบบ Community Isolation ในกรุงเทพมหานครก็ยังดีอยู่ ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ในหอพักและบ้านพักทำให้เข้าระบบ Home Isolation ไม่ได้ จะมีข้อเสนอให้เข้าระบบ Hospitel ซึ่งก็อยู่ในข้อเสนอยูเซ็ปครั้งที่แล้ว