PUBLIC HEALTH

ไทย อนุมัติใช้ยา “แอนติบอดี ค็อกเทล” โรช/รีเจนเนอรอน กับผู้ป่วย COVID-19

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทย อนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail) เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยก่อนหน้านี้องค์การยาสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ได้ประกาศคำแนะนำการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ใช้ยาดังกล่าว ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (United States Food and Drug Administration – USFDA) องค์การควบคุมมาตรฐานยาส่วนกลาง (Central Drugs Standards Control Organisation – CDSCO) ของอินเดีย และในอีกหลายประเทศได้ทยอยอนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมอย่างมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization – EUA) โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติแบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare – MHLW) ภายใต้มาตรา 14-3 ของกฎหมายเภสัชกรรมและเครื่องมือแพทย์ (Pharmaceuticals and Medical Devices Act – PMDA)

ยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ โรช (Roche) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) ร่วมกันผนึกกำลังพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงต่อการลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ

แพทย์หญิง ศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า “ผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ ระบุถึงประสิทธิภาพของยาแอนติบอดีแบบผสมของโรช ว่าช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัส (viral load) ในร่างกายของผู้ติดเชื้อ ช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อต้องใช้เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลลงได้ 4 วัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลงได้ถึง 70% ส่วนประเด็นที่ว่ายาแอนติบอดีแบบผสมใช้รักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่างๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) ได้หรือไม่นั้น แม้จะมีผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ (in vitro) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health – NIH) ที่บ่งชี้ว่ายาแอนติบอดีแบบผสมมีความไวต่อเชื้อกลายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีผลการทดลองในมนุษย์ (in vivo)”

นอกจากนี้ แพทย์หญิง ศันสนี ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “โรชยังมีนวัตกรรมยาอีกหนึ่งชนิด ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศคำแนะนำฉบับใหม่ว่าด้วยการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ใช้ยาสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อลดความรุนแรงของอาการปอดอักเสบได้ ยาข้ออักเสบรูมาตอยด์ดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา และพบว่าผู้ติดเชื้อตอบสนองต่อยาเป็นที่น่าพึงพอใจ”

Related Posts

Send this to a friend