PUBLIC HEALTH

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม. และ WHO รณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในเขตกรุงเทพฯ

วันนี้ (19 ธ.ค. 66) นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ Dr.Jos Vandelaer, WHO Representative to Thailand ร่วมแถลงความร่วมมือ การดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายแพทย์กฤษฎา กล่าวว่า จากข้อมูล ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่า ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยของการบริโภคโซเดียม เท่ากับ 3,496 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่าของคำแนะนำองค์การอนามัยโลก และจากข้อมูลผลการสำรวจโซเดียมในอาหารผ่านระบบ Thai Salt Survey ของกรมควบคุมโรค ปี 2566 พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในอาหาร ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับเค็มมาก หรือ 390 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 มิลลิลิตร การบริโภคโซเดียมเกิน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และเป็นปัจจัยของโรคแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้บริโภคโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เทียบเท่าเกลือ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา

นายแพทย์กฤษฎา กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าประสงค์ “ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (SALTS) ได้แก่

1.S (Stakeholder network) พัฒนาและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
2.A (Awareness) เพิ่มความรู้ความตระหนัก และเสริมทักษะให้ประชาชน
3.L (Legislationand environmental reform) ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ
4.T (Technology and innovation) พัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ
5.S (Surveillance, monitoring, and evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผล ตลอดกระบวนการ

“การดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียม จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ควรทำอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกลไกการขับเคลื่อนทุกระดับ และการประสานความร่วมมือ ของภาคีเครือข่ายเข้าด้วยกัน และขอขอบคุณกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วม ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง และลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะบรรลุเป้าหมาย การลดบริโภคเกลือและโซเดียม ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี จากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง” นายแพทย์กฤษฎา กล่าว

ด้านนายแพทย์สุนทร กล่าวว่า จากสถานการณ์การบริโภคเกลือ และโซเดียมของคนไทย ที่มากเกินความจำเป็น ทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต ด้วยความห่วงใยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายขับเคลื่อน การลดบริโภคเกลือและโซเดียม ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม จึงได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวัง และลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งวิถีชีวิตของกรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก อาหารปรุงสุกเป็นแหล่งของโซเดียม และไม่มีฉลากโภชนาการ

นอกจากนี้มีการดำเนินงานร่วมกับ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย จัดอบรมการปรับสูตรอาหารลดโซเดียม สำหรับผู้ประกอบการในตลาดพรีเมียม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ในเรื่องการลดบริโภคเกลือและโซเดียม โดยยกระดับร้านอาหารปลอดภัย ของกรุงเทพมหานคร (Safety Food) สู่ร้านอาหารสุขภาพ (Healthy Food) นำร่องแล้วในตลาดพรีเมียมมาร์เก็ต ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต, ตลาดเสนีย์ฟู้ด, ตลาดสามย่าน, ตลาดเสรีมาร์เก็ต, ตลาดฟู้ดวิลล่า, ตลาดยิ่งเจริญ, ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี และตลาดถนอมมิตร

พร้อมมอบเกียรติบัตร เพื่อเป็นการขอบคุณแก่ตลาดพรีเมียมทั้ง 8 แห่ง ที่ร่วมรณรงค์ลดบริโภคเกลือและโซเดียม ทำให้เกิดเมนูอาหารมากมาย ที่เป็นทางเลือกสุขภาพ ให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินงานในขั้นถัดไป ในปี 2567 คือขยายการดำเนินงาน ไปในโรงอาหารในโรงเรียน สถานที่ราชการ รวมถึงตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความพร้อม เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีสุขภาพดีตลอดไป

Dr.Jos กล่าวว่า โซเดียมส่วนใหญ่มีอยู่ในเกลือ เมื่อใส่เกลือในอาหารทำให้อาหารมีรสชาติขึ้น ไม่จืดชืด เราต้องการโซเดียม (เกลือ) ในร่างกาย แต่ถ้าได้รับมันมากเกินไป ความดันโลหิตก็เพิ่มขึ้น สามารถทำให้อวัยวะของคุณเสียหายได้ ไม่ว่าจะสมอง หัวใจ ไต นั่นเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ การทำงานของหัวใจที่เสื่อมลง การทำงานของไตที่ผิดปกติ ดังนั้นหากโซเดียมในปริมาณน้อย จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข ในการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมของประชากรกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นเมืองหลวง และเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศไทย โครงการนี้จะสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อน การบริโภคโซเดียมของประชากร ชึ่งองค์การอนามัยโลกขอเน้นย้ำสองประเด็นของโครงการนี้

1.โครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำ กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรอาหาร และให้ความรู้ผู้บริโภคในการลดโซเดียม คือลดปริมาณโซเดียม ตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหาร

2.ให้มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบ ปริมาณโซเดียมในอาหารตามตลาด จะเป็นประโยชน์สำหรับการวัดผลการดำเนินงาน และให้ความรู้แก่สาธารณชน จะวัดผลว่าทุกๆ การสื่อสารและความตระหนักรู้นั้น จะนำไปสู่การลดโซเดียมในอาหารที่ขายในตลาดกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้การแก้ปัญหาการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไปนั้น เป็นความรับผิดชอบของทุกคน แต่ภาครัฐสามารถช่วยได้ ด้วยการกระตุ้นพฤติกรรมไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของคนไทย

Related Posts

Send this to a friend