PUBLIC HEALTH

เผย พบโควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 สูงขึ้นทั่วโลก ไทยเจอแล้ว 40 ราย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย โควิด-19 สายพันธุ์ JN.1 มีแนวโน้มพบสูงขึ้นทั่วโลก ไทยเจอแล้ว 40 ราย ยังไม่ใช่ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง

วันนี้ (16 ม.ค. 67) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2565 พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ในตระกูล ปัจจุบันสายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 66 WHO จัดสายพันธุ์ JN.1 เป็น VOI โดยสายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86 ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามที่ต่างจาก BA.2.86 คือ L455S (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 455 เปลี่ยนจากลิวซีนเป็นซีรีน) เพิ่มความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ

JN.1 ได้เปรียบในการเติบโตสูงกว่า XBB.1.9.2 ถึง 73% โดยช่วงต้นปี 2567 มีรายงานการกลายพันธุ์ของ JN.1 เพิ่มที่ตำแหน่ง F456L (ฟีนิลอะลานีน ถูกแทนที่ด้วยลิวซีนที่ตำแหน่ง 456) รวมกลายพันธุ์สองตำแหน่ง L455S และ F456L เรียกว่า “Slip mutation” ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อ JN.1 ชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่งรายแรกในฝรั่งเศส ขณะนี้พบทั่วโลกจำนวน 41 ราย

นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกของสายพันธุ์ในกลุ่ม VOI จากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 48 (27 ต.ค. – 3 ธ.ค. 66) พบ EG.5 มากที่สุด 36.3% ถัดมาคือ JN.1 พบ 27.1% โดย EG.5 มีอัตราการพบที่ค่อย ๆ ลดลง ขณะที่ JN.1 มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 28 วัน

สายพันธุ์ในกลุ่ม VUM ที่พบมากที่สุด ได้แก่ XBB.1.9.1 ในสัดส่วน 3.3% และ DV.7 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามแบบ Flip mutation คือ กลายพันธุ์สองตำแหน่งที่อยู่ติดกัน ได้แก่ L455F และ F456L ช่วยส่งเสริมการจับตัวบนผิวเซลล์มนุษย์ และหลบภูมิคุ้มกันได้ดี อย่างไรก็ตาม DV.7 มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยังไม่พบรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ จนกระทั่งเดือนกันยายนเริ่มมีแนวโน้มลดลง และพบสายพันธุ์ XBB.1.9.2 มาแทนที่ ล่าสุดผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 ทางห้องปฏิบัติการ ช่วงเดือน พ.ย. 66 – 15 ม.ค. 67 พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2 ลดลง ขณะที่สัดส่วนของ JN.1 เพิ่มมากขึ้น

สายพันธุ์ JN.1 เริ่มพบในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 พบมากขึ้นในเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักแทนที่ XBB.1.9.2 จากข้อมูลปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อ JN.1 ในพื้นที่เขตสุขภาพ 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, และ 13 ซึ่งมีอาการระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้ ไอ และเสมหะ แต่ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ JN.1 ในประเทศไทย จำนวน 40 ราย ยังไม่มีชนิดกลายพันธุ์สองตำแหน่ง

Related Posts

Send this to a friend