PUBLIC HEALTH

มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ แนะผู้สูงอายุ 65 + ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่า สถิติไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยปี 2566 กรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่กว่า 480,000 ราย เสียชีวิต 29 ราย และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ 2567 พบผู้ป่วย 63,648 ราย เสียชีวิต 3 ราย สูงกว่าการระบาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะระบาดหนักสุดช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเตือนว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นตัวนำร่องสู่โรคร้ายแรงและอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเข้ามาโจมตีระบบทางเดินหายใจ ทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเข้าไปกระตุ้นการอักเสบให้มากขึ้น และยังไปรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในคอหอยของทุกคน เช่น ปอดอักเสบ ภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจวาย หรือไตวาย

ในกลุ่มเด็ก จะมีอาการรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0–4 ปี ส่วนเด็กอายุ 5–14 ปี จะเป็น Super Spreader ที่มักจะนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากโรงเรียนมาแพร่สู่สมาชิกในครอบครัว

กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็งหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคไต เป็นต้น

ส่วนคนหนุ่มสาวที่ไม่มีโรคประจำตัว หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาการอาจจะไม่ค่อยรุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ยิ่งหากมีผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวก็อาจส่งผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถือว่ามีความปลอดภัยและคุ้มค่าทางการแพทย์มากที่สุด จึงแนะนำให้ฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เริ่มฉีดได้ทันทีตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย ลดโรคแทรกซ้อนรุนแรง และลดการสูญเสียชีวิตได้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายจะใช้เวลากระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 2 สัปดาห์

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีคำแนะนำว่าทุกคนควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ประเภท ได้แก่

1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน มีปริมาณแอนติเจน 15 ไมโครกรัมต่อ 1 สายพันธุ์ต่อโดส สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ

2.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง มีปริมาณแอนติเจนมากกว่าขนาดมาตรฐานถึง 4 เท่า ลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน ร้อยละ 24.2 และลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ได้สูงกว่าขนาดมาตรฐานร้อยละ 48.9 เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสการติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิได้ดีกว่าขนาดมาตรฐาน

Related Posts

Send this to a friend