PUBLIC HEALTH

สถาบันสุขภาพเด็กฯ ย้ำ มีเตียงผู้ป่วยเด็กเพียงพอ

สถาบันสุขภาพเด็กฯ ย้ำ มีเตียงผู้ป่วยเด็กเพียงพอ ชี้อาการโควิดในเด็กไม่รุนแรง ยังไม่มีเคสสีส้ม-แดงในระลอกนี้ แนะผู้ปกครองสังเกตอาการใกล้ชิด คาดกระจายฉีดวัคซีนเด็กได้ ก.พ. นี้

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกระบวนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในวัยเด็ก โดยเน้นย้ำถึงความพร้อมในการจัดสรรเครื่องมือ บุคลากรทางการแพทย์ และเตียงสำหรับผู้ป่วยเด็กอย่างเพียงพอ

“ในส่วนของสถาบันฯ มีความพร้อมทั้งหมด 70 เตียง แยกเป็นเตียงสีแดงคือทารกแรกเกิด 6 เตียง เด็กโต 7 เตียง และเตียงผู้ใหญ่บางส่วนก็สามารถเปลี่ยนเป็นเตียงเด็กได้ทันทีหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ส่วนใน กทม. ก็จัดเตรียมแผนสำหรับฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด มีเตียงสำหรับระดับสีส้มหรือรุนแรงกว่า 100 เตียง กระจายตามโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทั้ง 6 โซนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งแต่มีการระบาดระลอกโอมิครอน ยังไม่มีเคสที่ต้องใช้เตียงส้มและเตียงแดง” นพ.อดิศัย เปิดเผยข้อมูลการเตรียมความพร้อมการรักษาผู้ป่วยเด็ก

ด้าน ผศ.พิเศษ พญ.ปิยรัชน์ สันตะรัตติวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคติดเชื้อ กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้แจงผลกระทบจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนต่อประชากรเด็ก โดยระบุว่าระลอกนี้ สัดส่วนผู้ป่วยเด็กมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น สอดคล้องกับที่ทั่วโลกมีแนวโน้มผู้ป่วยเด็กสูงขึ้นอาจถึง 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ปัจจัยที่ส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์ในประเทศ คือส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก และโรงเรียนอนุบาลกำลังเปิดเทอม

“เราพบว่าผู้ป่วยเด็กมีอาการไม่รุนแรง และอัตราการเสียชีวิตก็น้อยกว่า 1% จึงถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยที่เป็นโควิด ตอนนี้จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ในเด็ก”

ทั้งนี้ ผศ.พิเศษ พญ.ปิยรัชน์ ยังรายงานการรักษาผู้ป่วยเด็กตามที่เป็นกระแสข่าวว่า ผู้ป่วยอายุ 4 เดือน ปัจจุบันกลับไปกักตัวที่บ้านตามระบบ Home Isolation (HI) หลายวันแล้ว ซึ่งจะนำออกจากระบบเร็ว ๆ นี้หลังเข้าขั้นปลอดภัยแล้ว ส่วนผู้ป่วยอายุ 8 เดือน ไข้ลดเมื่อวานนี้ หลังจากป่วยเป็นวันที่ 3-4 แล้ว ยังคงต้องสังเกตอาการต่อไป

นพ.อดิศัย ชี้แจงว่าผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ถึง 50% มีอาการไอ มีน้ำมูก และท้องเสีย มีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่มีอาการหายใจเร็ว และไม่นานก็หาย ส่วนคนที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หัวใจ ระบบประสาทและสมอง ทางสถาบันก็ดูแลอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กฯ ชี้แจงการรับผู้ป่วยเด็กเข้ารักษา ตามเกณฑ์คือ อายุน้อยกว่า 1 ปี โดยมีผู้ปกครองเฝ้าด้วย หรือ มีไข้สูง 39 องศาขึ้นไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือ หายใจเร็วเกินกว่าระดับปกติตามอายุ หรือ ซึมลง กินข้าวน้อย เหล่านี้ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจวินิจฉัย

ทั้งนี้ ผศ.พิเศษ พญ.ปิยรัชต์ ยังแนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานในช่วงการระบาดนี้ ดังนี้

  1. หากคนในครอบครัวติดเชื้อ ให้ตรวจเด็กได้ทุกวัยด้วยชุดตรวจ ATK ผ่านโพรงจมูก (nasal swap)
  2. สังเกตอาการป่วยเช่น ไอ เหนื่อยหอบ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยลง
  3. เมื่อพบการติดเชื้อ ให้เข้าสู่ระบบการรักษา โดยเริ่มจากโรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน นอกจากสถาบันสุขภาพเด็กฯ ก็มีช่องทาง สปสช. หน่วยบริการเชิงรุก ตลอดจนโรงพยาบาลเครือข่ายใน กทม. และทั่วประเทศ

นอกจากนี้ พญ.พนิดา ศรีสันต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ งานโรคระบบการเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้แจงถึงการฉีดวัคซีนในประชากรเด็กว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดรูปแบบการฉีดแล้ว โดยจะเหมือนรอบระบาดเดลต้า คือเด็กกลุ่มเสี่ยง มีโรคเรื้อรัง ได้รับการฉีดก่อนเมื่อเทียบกับเด็กปกติ โดยที่ผ่านมามีทั้งจัดตั้งในโรงเรียน (school-based) และศูนย์ฉีดฯ (center-based)

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวว่า แม้ตัวเลขเด็กผู้ติดเชื้อจะดูเยอะขึ้นเพราะกลุ่มเด็ก 5-11 ปียังไม่ได้รับวัคซีน แต่ตัวโรคไม่ได้รุนแรง และรัฐบาลกำลังเร่งให้ได้รับในเดือน ก.พ.

“โอมิครอนในเด็กนั้น อาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ใครกังวลจิตใจก็สามารถมาตรวจ ATK ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ใครกังวลเตียงก็มีระบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) รองรับไว้อยู่แล้ว”

“เชื่อว่าคนไทยเข้าใจมาตรการทางสาธารณสุขและพร้อมเดินไปด้วยกันเพื่อให้สังคมกลับไปสู่หนทางปกติ ขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยและผู้ปกครองที่ช่วยดูแลหนู ๆ น้อง ๆ และดูแลตัวเองในระยะนี้ด้วย” ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าว

Related Posts

Send this to a friend