PUBLIC HEALTH

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะพก 4 ยาสมุนไพรติดตัวระหว่างเดินทางแก้เมารถ คลื่นไส้

วันนี้ (9 เม.ย. 68) ดร.รัชนี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก การจราจรบนท้องถนนหลายเส้นทางติดขัด อาการที่คนส่วนใหญ่มักพบได้บ่อย เช่น เมารถ มีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือท้องเสีย แนะนำให้ผู้ที่ต้องเดินทางไกลพกยาสมุนไพรติดรถเพื่อช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว ได้แก่

1. ยาขิง ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือ บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด

2. ยาฟ้าทะลายโจร ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ (อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน) มีข้อห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร และในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในลำคอ

3. ยาหอมอินทจักร์ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

4. พิมเสนน้ำ แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด บำรุงหัวใจ มีกลิ่นหอมเย็น ควรระมัดระวังการระคายเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจและดวงตาหรือบริเวณผิวหนังอ่อน

สำหรับผู้ที่นั่งรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมง มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ และ แขน แนะนำกายบริหารด้วยท่าฤๅษีดัดตนเพื่อบรรเทาอาการด้วยท่าแก้เกียจ นำมือทั้งสองข้างประสานกันประมาณระดับลิ้นปี่ ดันแขนออกไปทางด้านซ้ายโดยแขนตึง หน้ามองตรงค้างไว้สักครู่แล้วกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ดันแขนไปทางด้านขวาโดยแขนตึงหน้ามองตรงค้างไว้สักครู่แล้วกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ดันออกไปทางด้านหน้าค้างไว้สักครู่แล้วกลับมาอยู่ในท่าเตรียม และดันแขนยืดไปด้านบน โดยแขนแนบชิดหูค้างไว้สักครู่ แล้วลดแขนลงมาให้มือพักไว้บนศีรษะลักษณะหงายมือแล้วกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ท่านี้เป็นการยืดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ แขน หลัง หน้าอก ทำซ้ำกัน 5-10 ครั้ง

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่แนะนำ คือ การนวดตนเองระหว่างเดินทาง ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ของมือขวา กดนวดบริเวณแนวกล้ามเนื้อบ่าไล่ขึ้นไปที่ต้นคอข้างซ้าย พร้อมกับหันศีรษะไปด้านขวา และทำสลับข้างกัน ช่วยคลายกล้ามเนื้อบ่า ต้นคอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณศีรษะเพิ่มขึ้น ทำซ้ำข้างละ 5-10 ครั้ง และหมุนข้อไหล่โดยยกแขนหมุนไปด้านหลัง ซ้ายและขวาโดยทำทีละข้าง 5-10 ครั้ง ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่ บ่า หน้าอก และสะบัก คลายตัวทำให้บริเวณดังกล่าวเลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น

Related Posts

Send this to a friend