PUBLIC HEALTH

WHO เผย ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล-เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ในประเทศไทย ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 774 ล้านคน และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 7 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 และมีผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนขึ้น

ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าโควิด 19 สายพันธุ์ JN.1. ที่ระบาดในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น แต่เชื้อสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่มีผู้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองลดลง อีกทั้งประชาชนบางส่วนในประเทศไทย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ เป็นเหตุให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้ นับจากปี พ.ศ.2564 ทั่วโลกมีผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วกว่า 13,000 ล้านโดส ป้องกันการเสียชีวิตกว่า 14.4 ล้านคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ไม่มีผลข้างเคียง ประเทศต่าง ๆ จึงมีระบบการติดตาม เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีนทุกชนิดที่ใช้ในประเทศ ถึงอย่างไรผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโควิด 19 ยังพบได้น้อยมาก

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยโควิด 19 บางรายพบอาการภายหลังจากการติดเชื้อโควิด 19 หรือเรียกว่า ‘ลองโควิด’ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่อิ่ม ความจำและการทำงานของสมองไม่ปกติเหมือนเดิม เช่น ภาวะสมองล้า โดยร้อยละ 6 ของผู้ป่วยโควิด 19 ที่แสดงอาการ มีอาการของลองโควิด และผู้ป่วยกลุ่มนี้ร้อยละ 15 อาจมีอาการนานถึง 12 เดือน ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติ

สำหรับความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิด มีความสัมพันธุ์กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เพศหญิง ผู้สูงอายุ ภาวะน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ โรคประจำตัว และการติดเชื้อโควิดรุนแรง ซึ่งลองโควิดสามารถพบได้ในเด็กและวัยรุ่น แต่พบน้อย งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันภาวะลองโควิดได้ ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อแนะนำต่าง ๆ จะมีการปรับปรุงและเผยแพร่เมื่อมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมจะช่วยบรรเทาอาการลองโควิด ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อและมีอาการรุนแรง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อยหนึ่งเข็มและรับเข็มต่อไปห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน ส่วนผู้ที่ต้องติดต่อกับกลุ่มเปราะบาง หรือเสี่ยงอยู่เป็นประจำ ควรพิจารณารับวัคซีน ร่วมกับปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอและจาม และการล้างมือเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในหลายประเทศ พบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรสูงกว่าการคาดการณ์ (ช่วงก่อนโควิด) ในบางประเทศอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของประชากรเพิ่มขึ้น แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 จะลดลง อัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่เพิ่มขึ้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังคงอยู่ ระบบบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้การตรวจพบและรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ล่าช้า

Related Posts

Send this to a friend