PUBLIC HEALTH

‘หมอมนูญ’ คาดปลาย ม.ค.นี้ผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูง และจะลดลงอย่างรวดเร็ว คาดโอมิครอน จะสิ้นสุดก่อนสงกรานต์

‘หมอมนูญ’ คาดการณ์ปลายเดือน ม.ค.นี้กราฟผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูง และจะลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าโอมิครอนจะสิ้นสุดก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ 

วันนี้ (4 ม.ค. 65) นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าว The Reporters เกี่ยวกับความเห็นต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า 

โควิด-19สายพันธุ์นี้ (โอมิครอน) สามารถจะปรับตัวและแพร่จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้รวดเร็วมาก ด้วยคุณสมบัติการกลายพันธุ์ 50 ตำแหน่ง และเป็นไปตามธรรมชาติของเชื้อที่ต้องการขยายพันธุ์และอยู่รอดไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ขยายไปแล้วคนเสียชีวิตอย่างเชื้อไวรัส SARS เมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

“สายพันธุ์นี้จึงแพร่กระจายไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำให้คนตาย จนกระทั่งคนติดเชื้อนี้กันทั้งโลก สุดท้ายจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น คือทุกคนมีภูมิคุ้มกัน แต่เด็กเกิดใหม่ยังไม่มีภูมิ เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะติดเชื้อแล้วมีภูมิ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่ติดเชื้ออีก”

นพ.มนูญยังกล่าวถึงลักษณะของการติดเชื้อ ซึ่งติดกันผ่านทางอากาศได้โดยง่าย ทั้งการไอ การจาม และการพูดคุย โดยเฉพาะในห้องปิดทึบที่นั่งกันอยู่ 10 คนก็จะติดกันทั้งหมดเลย ไม่จำเป็นต้องนั่งห่างกัน เพียงแต่นั่งอยู่ในที่อากาศหมุนเวียน ในที่ปิด การติดเชื้อโอมิครอนนั้นง่ายกว่าเดลต้าถึง 3 เท่า 

อย่างไรก็ตาม นพ.มนูญ คาดการณ์ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า กล่าวคือ จะมีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัดเล็กธรรมดา เป็นเองก็หายเองได้ มีน้ำมูก มีอาการจาม มีระคายคอ มันเล่นงานเฉพาะทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงไปถึงถุงลมที่ทำหน้าที่ดึงออกซิเจนจากอากาศ 

“ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ทางอเมริกาเขาให้กักตัวแค่ 5 วันเอง เพราะอาการมันน้อย พอ 5 วันไปแล้วก็ออกนอกบ้านได้ แต่ขอให้ใส่หน้ากากต่ออีก 5 วัน ยาก็กินตามอาการ ไม่จำเป็นต้องกินฟาวิพิราเวียร์ รักษาได้ตามอาการซึ่งเป็นแค่อาการน้อยๆ เป็นอยู่ 3-4 วันอย่างนั้น ทุกคนจะติดเชื้อ ติดแล้วในที่สุดก็จะมีภูมิคุ้มกัน ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเหมือนแต่ก่อน และจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสักที”

นพ.มนูญ เปรียบเทียบความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนกับสายพันธุ์เดลต้าว่า “เดลต้านี่รุนแรงมาก เราจะเห็นเลยว่าคนเข้ามาอายุเยอะ ไม่ได้ฉีดวัคซีน แป๊บเดียว 4-5 วัน ลงปอด ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว อันนั้นเป็นมาก แต่อันนี้ไม่เหมือนเดลต้าอีกแล้ว แต่โอมิครอนอาจจะลงปอดได้เฉพาะคนที่ร่างกายอ่อนแอ คนสูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้ฉีดวัคซีน หมอคิดว่าคนเหล่านี้ควรจะฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรก เพราะเมื่อติดโอมิครอนก็จะเบาลงอีกนิดนึงจากที่โรคมันเบาอยู่แล้ว”

นพ.มนูญ คาดการณ์จุดการแพร่ระบาดสูงสุดว่า ไม่เกินปลายเดือน ม.ค. นี้จะขึ้นชันเลย สักพักก็จะลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะใช้เวลากับโอมิครอนสิ้นสุดก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ ย้ำว่าหน้าที่ของโอมิครอนคือการเป็นโรคประจำถิ่นที่อยู่รอดและขยายพันธุ์จนกลายเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ จนวันนั้นหวังว่าจะไม่มีสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีกและไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนกันอีกต่อไป

นพ.มนูญ ยังเน้นย้ำถึงมาตรการป้องกันว่า แม้การล็อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวอาจไม่ช่วยเท่าไรนัก แต่ที่สำคัญคือทุกคนต้องระมัดระวังตัว การ์ดอย่าเพิ่งตก จะติดก็ติดช้าหน่อย ติดก็ขอให้รับเชื้อน้อยหน่อยด้วยการใส่หน้ากากอนามัยที่จะรับอากาศน้อยลงหน่อย ส่วนใหญ่ก็ขอให้รักษาที่บ้าน เพราะอาการจะไม่หนักเท่ากับเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาที่หนักคนละเรื่องกันเลย

“ขอให้มองในแง่ดีมากกว่าแง่ลบ อย่าไปตกใจกลัวมัน เราก็อยู่กับมัน อยู่อย่างมีสติ ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด สุดท้ายก็เหมือนโรคหวัด” นพ.มนูญ ทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend