กรมสุขภาพจิต ห่วงประชาชนติดตามข่าวสารเหตุไฟไหม้รถบัส อาจทำให้เครียด-สับสน-เศร้าโศก
วันนี้ (3 ต.ค. 67) กรมสุขภาพจิต โดยทีม MCATT ลงพื้นที่เยียวยาเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งทีมไปยังจังหวัดอุทัยธานี เพื่อดูแลสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิต และสื่อสารการดูแลสภาพจิตใจประชาชนที่สามารถเข้าใจและปฎิบัติตามได้ พร้อมเร่งสื่อสารสังคม ไม่สร้างภาพ AI ที่จะเร้าอารมณ์ของผู้ที่กำลังโศกเศร้า ไม่เสริมข่าว หรือส่งต่อเพื่อยั่วยุอารมณ์ เน้นย้ำประชาชนจัดสรรเวลาในการรับรู้ข่าวอย่างเหมาะสม
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเฝ้าระวังและขอความร่วมมือเขียนข้อความไว้อาลัยอย่างเหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการวาดภาพประกอบขึ้นมาใหม่ หรือสร้างภาพจาก AI ที่จะเร้าอารมณ์ของผู้ที่กำลังโศกเศร้า เพราะการเยียวยาไม่ใช่เพียงแต่ครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ติดตามข่าวสาร แล้วเกิดอาการเศร้าอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ การไม่รับข่าวสารมากเกินไป “ข่าวท่วมท้น” (information overload) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในยุคดิจิทัล ซึ่งผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้เกิดความเครียด สับสน หรือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อข่าวที่เข้ามาเป็นข้อมูลขัดแย้งกัน หรือเป็นข้อมูลที่เกินกว่าความสามารถในการประมวลผลของสมองในเวลาที่จำกัด
การรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไปอาจทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง หรือรู้สึกมีเรื่องที่ต้องกังวลอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการรับข่าวอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความรู้สึกโกรธเคือง และทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวต่อเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่ต้องการได้ ซึ่งในปัจจุบันส่งผลต่อกระแสสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งและการตอบโต้เพื่อแสดงความรู้สึกที่เห็นต่างโดยใช้ช่องทางโซเชียลต่าง ๆ จนสร้างผลกระทบทางสังคมในมิติอื่น ๆ ซึ่งการดูแลตนเองสำหรับคนทั่วไปที่รับรู้เหตุการณ์ร้ายแรงสามารถทำได้ดังนี้
1.เลือกข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้
2.ไม่ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องมากเกินไป ไม่ควรเสพข่าวมากเกินไป รวมถึงอาจหลีกเลี่ยงการอ่านข้อความที่เต็มไปด้วยอารมณ์
3.ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ยั่วยุ หรือการแชร์ภาพที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการเคารพสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
4.รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์พฤติกรรมของตนเองเพื่อจัดการ และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นได้
5.สำรวจสัญญาณเตือนสุขภาพจิต หรือใช้ช่องทางในการขอรับคำปรึกษาเพื่อทำให้คลายความวิตก และลดความตื่นตระหนกจากการติดตามเหตุการณ์ซ้ำ ๆ
6.หาวิธีการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นที่เน้นให้ผ่อนคลาย และการอยู่กับผู้อื่น ไม่ควรติดตามข่าวซ้ำไปเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรหากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อลดความสนใจ และลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ หากเครียดไม่สบายใจ กรมสุขภาพจิตและภาคีเครือข่ายมีช่องทางปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชน โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่
1.ตรวจสุขภาพใจกับ MENTAL HEALTH CHECK-IN หรือ www.วัดใจ.com
2.DMIND บนแอปพลิเคชันหมอพร้อม
3.Sati App สามารถดาวน์โหลดฟรี ให้มีพื้นที่ออนไลน์สำหรับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่รู้สึกเครียด ทุกข์ใจ หรือต้องการใครสักคนที่จะรับฟังโดยไม่ตัดสิน
4.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.