PUBLIC HEALTH

กรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม Lifestyle Medicine คลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต แห่งแรกของภาคเหนือ

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยผู้บริหารกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน คลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต Lifestyle Medicine Clinic แห่งแรกของภาคเหนือ ที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมประชาชนในพื้นที่ให้มีสุขภาพดี

แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20.66 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด พบว่ามากกว่าครึ่งมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง เป็นผลสืบเนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต กรมอนามัย ได้ให้ความสำคัญ ในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลตามวิถีชีวิต เพื่อให้เกิดการมีภาวะสุขภาพที่ดีและเกิดความยั่งยืน จึงได้ให้มีการดูแลสุขภาพด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิต และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน การส่งเสริมสุขภาพ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้ ทักษะในการดูแลตนเอง และครอบครัว

ด้วยหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือ Lifestyle Medicine เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่เป็นปัจจัยการเกิดโรครายบุคคล เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวมี 6 องค์ประกอบหลัก คือ

1.การบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
2.การนอนหลับอย่างเพียงพอ
3.การจัดการ ความเครียดและอารมณ์
4.การจัดการด้านความสัมพันธ์
5.การจัดการบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด
6.การมีกิจกรรมทางกาย โดยผสมผสานและบูรณาการ ศาสตร์การรักษาต่างๆ มาวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน ลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็นลง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุ ของการเกิดปัญหาสุขภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ป่วยเกิดแรงจูงใจและมีความสุข ในการปรับเปลี่ยนฤติกรรมของตนเอง

ด้าน แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ เปิดให้บริการคลินิกเวชศาสตร์วิถีชีวิต ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบบริการ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและเป็น Wellness ประเภทสถานพยาบาลนำร่อง ระดับเขตสุขภาพที่ 3 ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ วางแผนการปรับพฤติกรรม เพื่อสุขภาพร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน เช่นนักโภชนาการวางแผน การรับประทานในแต่ละวันให้สอดคล้องกับกิจกรรมในวันนั้นๆ

การร่วมมือกับนักกายภาพบำบัด หรือเทรนเนอร์ในการจัดการออกกำลังกาย การใช้วิธีการบำบัดรักษาโดยแพทย์ทางเลือกมาใช้ หรือ Alternative Medicine ในการกำจัดความเครียด ด้วยการนั่งสมาธิ การเดินลมปราณ การจัดการการนอนหลับ การจัดการน้ำหนักตัว และการลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข่าวสารสาระความรู้ให้กับประชาชนในเขตสุขภาพที่ 3 และระดับประเทศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วขึ้น

Related Posts

Send this to a friend