PUBLIC HEALTH

กรมอนามัย เตือน ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหนาว ในภาคเหนือ-อีสาน เฝ้าระวังตนเอง

วันนี้ ( 1 ธ.ค. 66) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ระวังภัยหนาว ในจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงช่วงเดือนมกราคม 2567 จะเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ จากการผิงไฟช่วงหน้าหนาว เช่น อันตรายจากควันพิษ บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้ ไฟคลอก เป็นต้น เพื่อป้องกันตนเองและคนในครอบครัว

นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของกองบัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และจะมีอากาศหนาวเย็น น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงช่วงเดือนมกราคม 2567 จะเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะสิ้นสุดฤดูหนาวประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งผลให้บางพื้นที่ จะมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กรมอนามัยมีความห่วงใยประชาชน ถึงแม้ว่าในปีนี้อุณหภูมิหนาวเย็น น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงภัยหนาว และเตือนภัยเตรียมความพร้อม ดูแลสุขภาพจากภัยหนาว เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์ ความสูญเสียจากไฟไหม้บ้านเรือน การขาดอากาศหายใจ จากการผิงไฟในเต้นท์
ของนักท่องเที่ยว และการเสียชีวิตจากการดื่มสุราคลายหนาว รวมถึงอุบัติเหตุ เสียชีวิตจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊สได้ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ระวังภัยหนาว ป้องกันตนเองและคนในครอบครัว

สำหรับประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเอง ในการรับมือภัยหนาวอย่างปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยนำเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ซักให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้ง พร้อมนำออกมาใช้อย่างปลอดภัย หากอุณหภูมิลดลงให้ดื่มน้ำอุ่น และกินอาหารปรุงสุกใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ให้สำรวจเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงภัยหนาวในพื้นที่ ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนพิการทุพพลภาพ และสตรีมีครรภ์

พร้อมกันนี้ได้เร่งสื่อสารเตือนภัย เพื่อให้เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพจากภัยหนาว หลีกเลี่ยงการผิงไฟในที่อับอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต รวมทั้งการเฝ้าระวังอัคคีภัย จากการเผาฟืน จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ให้หมั่นตรวจตรา ทดสอบความปลอดภัย และให้ความรู้ความเข้าใจ แก่สถานประกอบกิจการ หรือครัวเรือนที่มีการใช้ เครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊สอย่างเข้มงวด เพื่อให้ควบคุม ป้องกันอันตราย จากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นดังกล่าว ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ใช้งาน

“นอกจากนี้การก่อไฟแต่ละครั้ง จะมีควันไฟออกมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากไม่ดับไฟให้สนิท อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟไหม้ จึงควรก่อไฟในบริเวณ ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ขณะผิงไฟควรนั่ง หรือยืนอยู่เหนือทิศทางลม สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยง การอยู่ใกล้บริเวณที่มีการก่อไฟ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการนำเตาถ่าน หรือตะเกียงน้ำมันก๊าดเข้าไปจุดผิงไฟในเต็นท์ เนื่องจากจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อสูดดมก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้ เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ไปเลี้ยงสมองทำให้เกิดอาการง่วง หลับโดยไม่รู้ตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา”

“นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ หรือถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต ส่วนการป้องกันเพลิงไหม้บ้านเรือน ก่อนประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยววันหยุดเทศกาล ขอให้ตรวจการปิดเตาแก๊ส ถอดปลั๊กไฟ และดับธูปเทียนทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ ไม่เผาขยะหรือวัชพืชใกล้วัสดุติดไฟง่าย ไม่ดื่มสุราแก้หนาว เพราะสุราเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงจนอาจเสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Related Posts

Send this to a friend