‘สมศักดิ์’ รับฟังความเห็นปมกัญชาจากนักวิชาการ-ภาคประชาสังคม หนุนกลับเป็นยาเสพติด
‘สมศักดิ์’ เปิดกระทรวง รับฟังความเห็นปมกัญชาจากนักวิชาการ-ภาคประชาสังคม หนุนกลับเป็นยาเสพติด หลังพบ เด็กเข้าถึงง่าย-ไอคิวลด ชี้ หลังปลดล็อก ทำต้นทุนค่ารักษาเพิ่มขึ้น
วันนี้ (1 มิ.ย. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นนักวิชาการ สมาคม ราชวิทยาลัย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาในสังคมไทย ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางนำกัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติด แต่การจะประกาศยาเสพติดประเภทที่ 5 เพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งสมาคมที่เดินทางมาวันนี้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 30,000 คน จึงถือได้ว่าเป็นพื้นที่รับฟังความคิดเห็น โดยข้อเสนอที่ให้เปิดเวทีให้ความรู้เรื่องกัญชา ได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นด้วย เพื่อได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข
“ผมได้รับฟังข้อมูลเรื่องกัญชา ต้องยอมรับว่า น่ากลัวมากสำหรับเด็กและเยาวชน เพราะจากข้อมูลของอเมริกาพบว่า ไอคิวของเด็กที่ใช้กัญชา ลดลงไป 8-9 หน่วย รวมถึงหลังปลดล็อกกัญชาก็ทำให้ต้นทุนการรักษาด้วยกัญชาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาประชาชน อย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยรัฐบาลพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องมารักษาโรคเกี่ยวกับกัญชา ที่สูงมากขึ้น จากเดิมต้นทุน 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 20,000 ล้านบาทต่อปี” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นายอาทิตย์ เสถียรวารี ผู้แทนกลุ่ม YNAC (Youth Network Against Cannabis) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประชาชนยังมีความรู้เรื่องกัญชาน้อย จึงเกิดปัญหาสังคม โดยกลุ่ม YNAC มองว่า ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องกับกลุ่มเด็กและเยาวชน บางส่วนเข้าใจผิดว่ากัญชาถูกกฎหมายแล้ว จะทำอะไรก็ได้ รวมถึงจากการสำรวจ ชุมชนสามารถปลูกได้ ทำให้เข้าใจว่าสามารถกินได้ ผู้ปกครองจึงผสมใส่อาหารให้เด็กไปกินที่โรงเรียน
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม YNAC อยากให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพราะกว่า พ.ร.บ.ควบคุม จะออกมา ใช้เวลาเป็นปี กลุ่ม YNAC จึงเห็นว่ารัฐบาลแก้ไขเร่งด่วนดีที่สุดแล้ว เนื่องจากมองอนาคตของชาติสำคัญสุด หลังมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานวิจัยที่อเมริกาพบว่า กัญชาใช้แล้วติด เมื่อติดแล้วก็จะมีปัญหาทางจิตเวชตามมา ทำให้ในโรงพยาบาลมีสัดส่วนผู้ป่วยทางจิตจากกัญชา เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนในระยะยาวจะทำให้คนไทยมีคุณภาพแย่ลง โดยเฉพาะไอคิวลดลง รวมถึงเป็นโรคจิตด้วย โดยช่วง 2-3 ปี เรามองเห็นปัญหา เพราะปล่อยให้ใช้โดยควบคุมน้อยมาก จึงเสนอให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด
ผศ.(พิเศษ) นพ.ปราการ ถมยางกูร สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้กัญชา มีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่ม รวมถึงมีอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น นอกจากนี้ แม่ที่ใช้กัญชา เวลาให้นมลูก จะมีส่วนของกัญชาไหลออกมาให้เด็กด้วย ขณะเดียวกัน ข้อมูลยังพบว่า หลังปลดล็อกกัญชา ทำให้ต้นทุนการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์สูงขึ้น โดยช่วงปี 2562-2564 มีต้นทุนการรักษา 3,200-3,800 ล้านบาท แต่ปี 2565-2566 เพิ่มเป็น 15,000-21,000 ล้านบาท
อ.เกรียงไกร พึ่งเชื้อ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่า จากการสำรวจในภาคตะวันตกพบว่า ผู้ที่ใช้เฮโรอีน ร้อยละ 40 เริ่มมาจากการใช้กัญชามาก่อน จึงควรให้ความสำคัญ เพราะจะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากขึ้น จนปัจุบันมี 1 ตำบล 1 ผู้ป่วยจิตเวช
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นยังสะท้อนว่า ต้องมีการให้ข้อมูลของกัญชาที่แท้จริง รวมถึงต้องระวัง กัญชาในขนมด้วย เพราะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีเด็กกินบราวนี่ 2 ชิ้น ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล จึงเสนอให้จัดเวทีให้ข้อมูล
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์ กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับกัญชาและยาเสพติดต่อจากนี้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยที่สนับสนุนในอดีตเพราะอาจมีข้อมูลที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องให้เวลาการตกผลึกด้วย แต่คงไม่ช้า เพราะยาบ้าในสัปดาห์หน้าก็จะรับฟังความคิดเห็นจบในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะดำเนินการเรื่องกัญชาต่อ
เมื่อถามถึงแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการนำกัญชาเป็นยาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องการเยียวยาในที่ประชุมก็ได้พูดถึงด้วย ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป เพราะไม่มีเงินมากมายที่จะไปใช้ที่ไม่ใช่ทางตรง แต่ขอยืนยันว่าจะให้เวลาการปรับตัว พร้อมขอย้ำว่า ไม่ห้ามทางการแพทย์