ศบค. ชี้เดินทางข้ามจังหวัดต้องกรอกแบบฟอร์ม ‘หยุดเชื้อเพื่อชาติ’ ลั่นพร้อมใช้ ‘อู่ฮั่นโมเดล’ หากแพทย์เสนอ
ศบค. ชี้ประชาชนจำเป็นเดินทางข้ามจังหวัดต้องกรอกแบบฟอร์มผ่านเว็บไซต์ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ สถานการณ์จะคลี่คลาย สื่อทำงานนอกพื้นที่ได้ ให้ยึดมาตรการป้องกันโรค ตามมาตรการ DMHTT ลั่น ศบค.พร้อมใช้ ‘อู่ฮั่นโมเดล’ หากแพทย์เสนอ
พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. ชี้แจงแนวทางการปฎิบัติมาตรเข้ม ที่จะเริ่มพรุ่งนี้(20 ก.ค. 64) ว่าผู้อยู่ต่างจังหวัดแล้วจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อฉีดวัคซีน โดยปกติหากมีใบนัดหรือหลักฐาน ก็ขอให้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด โดยหากกรณีการเดินทาง ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงได้ ในช่วงเวลาขณะนี้ศบค.มีความห่วงใยไม่อยากให้ประชาชน จากพื้นที่ที่มีความเข้มต่ำกว่า เดินทางเข้ามายังพื้นที่ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ส่วนหลักฐานในการเดินทางจะมีข้อกำหนดอยู่ 2 กรณี คือหากมีหลักฐานเป็นเอกสารก็สามารถยื่นแสดงได้ แต่หากไม่มีเอกสารแสดงขอให้เข้าไปในเว็บไซต์ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ซึ่งจะเปิดดำเนินการในช่วงเย็นของวันนี้ (19 ก.ค. 64) โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงทดสอบเพื่อให้สามารถดำเนินการได้
พร้อมกับย้ำว่าหากประชาชนมีความจำเป็น ที่จะต้องเดินทางขอให้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ หยุดเชื้อเพื่อชาติเพื่อกรอกแบบฟอร์ม เพื่อรับคิวอาร์โค้ดแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ และจะต้องตอบข้อซักถามจากเจ้าหน้าที่ด่านเพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่สะดวกแต่จะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ เนื่องจากมีมาตรการคัดกรองเพื่อจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัด
ส่วนมาตรการที่ออกมานอกเวลาเคอร์ฟิว (04.01- 20.59 น.) ยังเป็นในลักษณะของความร่วมมือหรือเป็นคำสั่งห้าม นั้น พลเอกณัฐพลอธิบายว่า ช่วงเวลาเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 21:00 น ถึง 04:00 น ของวันรุ่งขึ้นเป็นการบังคับสั่งห้าม ส่วนช่วงนอกเวลาเคอร์ฟิวยังคงจำเป็นต้องเว้น ในบางกิจการหรือกิจกรรม เพราะฉะนั้นในช่วงนี้จำเป็นต้องใช้คำว่า “ให้” ไปก่อน โดยขอให้งดหรือหลีกเลี่ยง เพราะหามาตรการนี้ต้องเข้มข้นต่อไป คงจำเป็นต้องใช้คำว่า “ห้าม” และเมื่อ ใช้คำว่า “ห้าม” จะมีบางกิจกรรมหรือกิจการที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก
ขณะที่ข้อกำหนดการเปิดสถานพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลสัตว์ด้วยหรือไม่ พลเอกณัฐพลระบุว่ารวมด้วย เนื่องจากเป็นในแง่มนุษยธรรม ถือว่าเป็นกิจการด้านสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มีสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในความดูแล และคนมีความผูกพันกับสัตว์เมื่อสัตว์ป่วยไม่สบาย ก็ถือว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล
ทั้งนี้พลเอกณัฐพลยังระบุอีกว่า มาตรการที่มีการบังคับใช้ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นี้ ในพื้นที่สีแดงเข้มการขอความร่วมมือภาคเอกชนในการทำงานที่บ้านหรือ work from home นั้นเป็นการออกมาตรการขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดทางนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ได้ชี้แจงไปในช่วงกลางวันที่ผ่านมา (12.30น.)
ขณะที่การประเมินสถานการณ์ และการปรับแผนรองรับ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นไม่ลดลง พลเอกณัฐพล ระบุว่า ศบค. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดได้มีการเตรียมการทุกสถานการณ์ไว้แล้ว หากเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะทำอย่างไร หรือหากสถานการณ์ไม่ดีไปกว่านี้จะทำอย่างไร สำหรับโมเดลอู่ฮั่นนั้น เป็นข้อพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้มีการพูดถึง และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วคงต้องฟังกระทรวงสาธารณสุขว่าจะมีการประเมินอย่างไรจำเป็นต้องใช้อู่ฮั่นโมเดลหรือไม่ ซึ่งทาง ศบค.มีความพร้อมไม่ว่าจะอยู่ในกรณีใด
ส่วนจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ พลเอกณัฐพลระบุว่า ไม่ได้มองที่ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง แต่ต้องมองหลายปัจจัย ทั้งจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนสถานพยาบาลที่มีอยู่ และปัจจัยอื่นๆในแง่เศรษฐกิจด้วย ซึ่งต้องมองในทุกมิติ ไม่ใช่มองด้านใดด้านหนึ่ง
ทั้งนี้พลเอกณัฐพลยังระบุอีกว่า ในแง่ของศบค. ความสำเร็จในมาตรการควบคุมโรค ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีความเข้มข้นจริงจัง มีความประณีต ในมาตรการควบคุมโรค ส่วนเอกชนผู้ประกอบการจะต้องให้การสนับสนุนตามมาตรการที่ศบค.กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้กำหนดเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.64) ตนได้หารือร่วมกับสื่อมวลชนว่าถือเป็นส่วนที่ 4 ที่ช่วยขับเคลื่อนให้มาตรการต่างๆ เป็นประโยชน์ได้หรือมีประสิทธิภาพได้ คือสื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและขยายผล ซึ่งจะทำมาตรการต่างๆนั้นมีประสิทธิผล โดยหาก 4 ส่วนมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังศบค.คาดว่าสถานการณ์ น่าจะเอาอยู่ แต่หากลำพังศบค.อย่างเดียว มาตรการเข้มงวดอย่างไรก็ตาม อีก2-3 ส่วนไม่ให้ความร่วมมือ ศบค.ก็คิดว่าไม่น่าเอาอยู่
ส่วนจะมีการปรับปรุงโครงสร้างของ ศบค.หรือไม่นั้น พลเอกณัฐพลระบุว่า ปัจจุบันในโครงสร้างถือว่าทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ประสานสอดคล้องกันไป ซึ่งบางครั้งอาจมีการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันเพราะฉะนั้นทีมเดิมโครงสร้างเดิม ยังมีประสิทธิภาพดีอยู่ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่จะเพิ่มเติม ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ที่จะมอบหมาย แต่หากในมุมของตน โครงสร้างที่มีอยู่ก็มีความพร้อม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่การทำงานของสื่อมวลชน พลเอกณัฐพลระบุว่า ถือว่ามีความจำเป็น ก็ยังคงสามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้ แต่เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ขอให้สื่อมวลชนได้ยึดมาตรการป้องกันโรค ตามมาตรการ DMHTT เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ส่วนการทำหน้าที่ของอาสาสมัครต่างๆ ถือเป็นการทำงานบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งได้รับข้อยกเว้นตามข้อกำหนด สามารถทำงานได้
ส่วนเรื่องการจัดหา วัคซีน นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โดยจะผ่านการกลั่นกรองจาก คณะกรรมการวัคซีน / กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขทำงานอย่างเต็มที่ ขอให้สื่อมวลชน ช่วยทำความเข้าใจ และ เห็นใจกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ยอมรับว่ามีปัญหา ทั้งสภาพแวดล้อม และ บริบทของวัคซีนที่แตกต่างกัน
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนที่มี อาจไม่เหมาะสมแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบยอมรับว่า วัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เพราะวัคซีนในตลาดก็มีจำนวนจำกัด รัฐบาลไม่สามารถกำหนดได้เองว่า จะได้มามากน้อยแค่ไหน ในช่วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเป็นฝ่ายกำหนด ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการและ จะรายงานนายกรัฐรัฐมนตรีต่อไป
ขณะที่การแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้าง หรือผู้ป่วยรอเตียงนาน บางรายอาการหนักขึ้น จนเสียชีวิต นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งตรวจหาเชื้อ โดยทำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะ ระบบ Home Isolation หรือการแยกกักที่บ้าน ที่ต้องเร่งเซ็ตระบบ ให้สมบูรณ์โดยเร็ว หากยังไม่สมบูรณ์ ให้ตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ตอนนี้ยังทำได้เพียง 20 เขตเท่านั้น จึงต้องเร่งรัดให้ทุกเขตมีศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง เพื่อพักคอย ก่อนส่งไปรักษาตัว ตามอาการที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตามเชื่อได้ว่าสถานการณ์ก็จะดีขึ้นกว่านี้ แม้อาจจะไม่ได้เตียงในทันที แต่ ศปก.ศบค. ก็จะติดตามเรื่องนี้และแก้ไข ส่วนกรณีที่ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้หรือติดต่อได้ยากนั้น ในอนาคตเมื่อมีศูนย์พักคอยอยู่ที่เขตแล้ว ประชาชนที่อยู่ตามเขตต่างๆ ก็จะสามารถติดต่อที่เขตได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามายัง ระบบ 1330 หรือ 1668 หรือ 1669 ซึ่งพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. รับปากแล้วว่าอย่างน้อยในสิ้นเดือนนี้ทุกเขตจะต้องมีศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง
พลเอกณัฐพล บอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวของจะดูแลประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ ท่ามกลางมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นมากขึ้น จึงจำเป็นต้องขอความกรุณา ทุกภาคส่วนให้ช่วยกันให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดเพื่อให้เวลา 14 วันข้างหน้านี้มาตรการต่างๆ จะเกิดประสิทธิผล และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วก็จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน
และขอขอบคุณประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขอเวลาอีก 14 วัน หากมาตรการต่างๆ ได้รับรับความร่วมมือเป็นอย่างดี มั่นใจว่า สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจะมีการติดตามสถานการณ์ทุกวัน ซึ่งทุกรอบ 7 วัน จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง