สถาปัตย์ จุฬาฯ จัดนิทรรศการครบรอบ 90 ปี
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการครบรอบ 90 ปี นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในไทย
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการครบรอบ 90 ปี “สถาปนา สถาปัตยกัม : ก้าวแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2476–2484” เปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 2 ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดแสดงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-18:00 และวันเสาร์ เวลา 08:30-16:00 เปิดให้เข้าชมงานฟรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 90 ปี คณะสถาปัตย์ฯ จึงจัดนิทรรศการเพื่อแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเมืองกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งนิทรรศการชี้ให้เห็นบทบาทของสถาปนิกไทยรุ่นบุกเบิก ตลอดจนบทบาทของสถาปนิกเบลเยียมและอิตาเลียน ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรม แห่งแรกของสยาม นำเสนอผ่านเอกสารจดหมายเหตุ แผนที่ แบบสถาปัตยกรรม หุ่นจำลอง และสิ่งของต่าง ๆ
“เรามีศิษย์เก่าที่อยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากมาย เราจึงสามารถใช้เครือข่ายองค์ความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความแตกต่าง รวมถึงศาสตร์ใหม่ ๆ เช่น การใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการคาดการณ์หรือจำลองภาพอนาคต เช่น การวางแผนหรือออกแบบผังเมืองก็จะต้องมีกระบวนการหรือซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ศึกษาและเข้าใจเมืองได้มากขึ้น หรือช่วยในการเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากของสังคมในยุคปัจจุบัน” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ กล่าวต่อว่า ตลอด 90 ปีที่ผ่านมา มีการปรับหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพ ส่งเสริมบทบาทของศิษย์เก่าที่เข้ามาให้ความรู้แก่นิสิตรุ่นปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อระหว่างสถาบันต่างประเทศมาโดยตลอด เพื่อทำให้นิสิตมีโอกาสเรียนรู้วิธีคิด โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายการเรียนการสอนและการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้กับกลุ่มสถาบันการศึกษา และวิชาชีพในอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ “Architecture & Design for Future Society” ขับเคลื่อนภารกิจ 3 เรื่อง คือ
1.Creating Sustainable Living มุ่งเน้นการพัฒนาการอยู่อาศัยที่สร้างความยั่งยืน
2.Valuing Heritage ส่งเสริมและต่อยอดคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์
3.Empowering Creative Economy ใช้ความรู้เรื่องการออกแบบยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นอกจากนี้จะมีการเปิดสอนหลักสูตรอบรมระยะสั้น ที่หลากหลายและเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะนิสิตจุฬา เพื่อให้สามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องของสถาปัตยกรรมและการออกแบบได้
ดร.ม.ล.ปิยลดา ทวีปรังษีพร อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภัณฑารักษ์นิทรรศการ กล่าวว่า นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวในช่วง 7 ปีแรกของการก่อตั้งคณะฯ มีการผสมผสานทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม เนื้อหาหลักสูตร วิชาการที่มีทั้งตะวันตกและไทย เรื่องราวของบุคลากร นิสิต ตลอดจนชีวิตประเพณีต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้น กำเนิดเป็นโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งแรกของประเทศ
ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภัณฑารักษ์นิทรรศการ กล่าวว่า นิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.สถาปนิก แสดงให้เห็นจุดกำเนิดของวงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย แต่เดิมใช้สถาปนิกชาวต่างชาติเป็นหลัก รัฐจึงเริ่มส่งนักเรียนไทยไปเรียนวิชาสถาปัตย์ฯ ที่อังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงปลายรัชกาลที่ 6-7 เพื่อผลิตคนให้มีความรู้มาทดแทน มีบุคคลสำคัญคือ อาจารย์นารถ โพธิประสาท นักเรียนอังกฤษ ผู้สถาปนาแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2476 ทั้งยังร่วมกับสถาปนิกรุ่นบุกเบิก ก่อตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” ขึ้น พ.ศ.2477
2.สถาปัตยกรรม บอกเล่าเรื่องราวในช่วงพ.ศ.2476-2484 มีการสร้างอาคาร ทั้งตึกเรียน สำนักเลขาธิการ หอประชุม สนามกีฬา ที่ออกแบบโดยสถาปนิกทั้งนักเรียนนอกรุ่นแรก สถาปนิกฝรั่งรุ่นสุดท้าย และช่างไทยประเพณี เกิดสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ ทั้งไทยประยุกต์ แบบโมเดิร์น และแบบคลาสสิก โดยอาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์เปิดใช้งานพ.ศ. 2484
3.สถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร การเรียนการสอน ตลอดจนชีวิตในคณะ โดยใช้แบบสถาปัตยกรรม หุ่นจำลอง ภาพถ่าย เอกสารต่าง ๆ หนังสือของ อาจารย์นารถ หนังสือโต้ตอบ ตำรา ตารางสอน ตลอดจนทะเบียนรายชื่อนิสิตยุคแรก ให้เห็นบางส่วนของชีวิตและกิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อเก้าทศวรรษที่ผ่านมา