นักเรียนยากจนพิเศษคืออะไร
กสศ. ได้จัดเกณฑ์ไว้ว่า “นักเรียนยากจนพิเศษ” คือกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ย1,332 บาทต่อคนต่อเดือน (หรือคิดเป็นวันละ 44 บาท) ซึ่งแม้เด็กนักเรียนทุกคนจะได้รับการสนับสนุนเรียนฟรีจากรัฐ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ครอบครัวต้องมีในระหว่างการเปิดภาคเรียน ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวโดยยังไม่รวมค่าเดินทาง จะอยู่ระหว่าง 1,195 – 4,829 บาท ต่อครัวเรือน หมายความว่าการที่นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษจะได้เรียน รายได้ของครอบครัวอาจจะหมดไปกับการเรียนของเด็กคนนั้น ทำให้ความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบการศึกษามีสูงมาก
นอกจากความยากจนทางรายได้แล้ว ยังมีเกณฑ์เกี่ยวกับความยากจนทางสถานะครัวเรือน เช่น สภาพที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน แหล่งน้ำดื่ม แหล่งไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือน การเดินทาง และที่สำคัญที่สุดคือสภาพของครอบครัวซึ่งนักเรียนยากจนพิเศษมักอยู่ใน “ครอบครัวแหว่งกลาง” พ่อแม่แยกทาง หรือย้ายไปอยู่ที่อื่น นอกจากนั้นในครอบครัวยังอาจมีผู้ต้องได้รับการดูแล ป่วยเรื้อรัง หรือสูงอายุอีกด้วย ทำให้เด็กบางคนต้องเป็นเสาหลักในการหารายได้ ซึ่งส่งผลให้เด็กต้องเสียสละ หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาในที่สุด