รมว.เกษตร จับมือจุฬาฯ เดินหน้าผลิตวัคซีนลัมปีสกินจากพืช
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมหารือร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม202 ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 สำนักงานอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายหลังการประชุม นายเฉลิมชัยเปิดเผยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรรมระหว่างกระทรวงเกษตรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการแรกคือการผลิตวัคซีนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีโปรตีนพืช (Plant based Protein) เริ่มจากวัคซีนลัมปิสกินซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทยที่แพร่ระบาดในโค-กระบือหลายสิบจังหวัดและต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์
โดยกรมปศุสัตว์และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมดำเนินการทันทีโดยวางเป้าการผลิตเพื่อใข้ในประเทศทดแทนการนำเข้าและขยายสู่การส่งออก นับเป็นประเทศแรกๆของโลกที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนพืชผลิตวัคซีนสัตว์โดยทีมนักวิจัยของไทย
“วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งที่สำคัญต่อการพลิกโฉมหน้าภาคเกษตรกรรมของไทยเมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตกลงจับมือร่วมทำงานกับกระทรวงเกษตรฯ เพราะการพัฒนาภาคเกษตรในยุคปัจจุบันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องใช้วิทยาการและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้จะมีโครงการความร่วมมืออื่นๆที่สำคัญ เช่นโครงการพัฒนาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตร โครงการพัฒนาฮาลาล โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง โครงการการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart farmer) เป็นต้น
รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ขอฝากไว้เป็นพิเศษโดยมอบหมายให้ที่ปรึกษาอลงกรณ์ พลบุตรในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร AIC เป็นผู้ประสานงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งนี้จะมีการทำ MOU ภายในสัปดาห์หน้า
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดี และพร้อมร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเต็มที่ในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยทันทีโดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีนสัตว์จากพืขเป็นโครงการนำร่องโครงการแรก รวมทั้งเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้พื้นที่ของสยามสแควร์อินโนเวชั่นดิสตริคท์ (Siamsquare Innovation District) ในการนำเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมมาเปิดแสด งและสาธิตต่อยอดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ๆ ของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทั่วประเทศ
รวมทั้งการดำเนินโครงการแก่งคอยอินโนเวชั่นดิสตริคท์ (Kaengkoi Innovation District (KID) โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โครงการสมาร์ท โอท็อป (Smart OTOP) โครงการดิจิตอลไอทีวัลเลย์ (Digital IT Valley)
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือที่จะตามมาโดยเร็วคือโครงการพัฒนาแก่งคอยอินโนเวชั่นดิสตริคท์หรือเมืองนวัตกรรมแก่งคอยในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรีจะร่วมกันพัฒนาคล้ายกับซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ในสหรัฐอเมริกาที่ริเริ่มดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสตาร์ทอัพกว่า 200 บริษัทที่พร้อมต่อยอดการลงทุนสตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีเกษตรและอาหารรวมทั้ง (Foodtech และ Agritech Start-Up) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะสร้างคนสร้างงานสร้างรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท