KNOWLEDGE

อ. จุฬาฯ ชี้สถานศึกษาบนโลกจริงยังจำเป็นอยู่มาก การเรียนรู้ผ่าน Metaverse ควรเป็นแค่ทางเลือกเสริม

อาจารย์ครุศาสตร์ฯ จุฬาฯ เผยถึงแม้ในอนาคต Metaverse โลกเสมือนจริงจะเข้ามามีบทบาทในการเปิดประสบการณ์ผู้เรียนมากมาย แต่ความสำคัญของสถานศึกษาบนโลกจริงยังมีความจำเป็น เนื่องจากบน Metaverse ไม่สามารถให้ประสบการณ์การเรียนรู้ได้ครบประสาทสัมผัสทั้ง 5

ศาสตราจารย์ ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการศึกษาในอนาคตที่ Metaverse จะเข้ามามีบทบาทเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนว่า Metaverse สามารถเข้ามาเปลี่ยนการสื่อสารทางสังคมและการเรียนรู้และเสริมประสบการณ์ให้ผู้เรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงผ่านโลกจริงได้แต่สามารถพบเห็นผ่านโลกเสมือน อีกทั้งยังขยายพรมแดนการเรียนรู้ได้กว้างไกลยิ่งขึ้น

“Metaverse ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องและเข้าใจยาก กลายมาเป็นภาพเสมือนจริงที่สัมผัสและจับต้องได้ การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เร็วขึ้น และเราสามารถเดินทางหรือติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ห่างไกลได้ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถจำลองห้องเรียนเสมือนที่ไทย แต่ได้ความรู้สึกเหมือนไปนั่งเรียนที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรป อเมริกา แม้จะไกลแค่ไหนก็สามารถจำลองพื้นที่นั้นให้กลายเป็นชุมชน (Community) การศึกษาร่วมกันข้ามประเทศได้” ศ.ดร.ใจทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.ดร.ใจทิพย์ ยังกล่าวถึงความสำคัญของสถานศึกษาบนโลกจริงว่ายังมีความจำเป็นอยู่มาก การเรียนรู้ผ่าน Metaverse ควรเป็นแค่ทางเลือกเสริม “การเรียนรู้ของมนุษย์ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่ง Metaverse ไม่ได้ให้ทั้งหมด เช่น การรับรส กลิ่น เสียง เป็นต้น บรรยากาศที่สร้างขึ้นจากกราฟิกย่อมไม่มีรสชาติ ไม่เหมือนของจริง 100% จึงไม่อาจทดแทนการเรียนรู้กับโลกในความเป็นจริงได้ทั้งหมด ดังนั้น Metaverse จึงเป็นทางเลือกเสริม ไม่ใช่การทดแทนโรงเรียนเลยเสียทีเดียว นอกเสียจากว่า จะจัดนิเวศในการรับรู้ ให้ตอบสนองสัมผัสทั้งห้า”

Related Posts

Send this to a friend