KNOWLEDGE

‘กสศ.’ ปลุกกระแสสังคม ผ่านแนวคิด “โรงเรียนขนาดเล็ก = โรงเรียนของชุมชน”

‘กสศ.’ ปลุกกระแสสังคม ผ่านแนวคิด “โรงเรียนขนาดเล็ก = โรงเรียนของชุมชน” ผลักดันข้อเสนอแนะและทำงานร่วมกับองค์กรในท้องถิ่น พร้อมยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณครูและสถานศึกษา (กสศ.) ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ในงาน “เวทีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล อย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ 1” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์กรุงเทพมหานคร

ดร.อุดม กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนมากกว่า 10,400 แห่ง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในการเข้าไปพัฒนาดูแล โดยเฉพาะเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน หากไม่ได้รับการดูแล จะนำมาสู่คุณภาพการศึกษาที่ถดถอย

สำนักพัฒนาคุณครูและสถานศึกษา (กสศ.) จึงมีโอกาสเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กและพื้นที่ห่างไกล โดยการให้ทุนเสมอภาคในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้สามารถคงอยู่ต่อไปได้ และมีวิธีการทำงานที่มากกว่าการเข้าไปช่วยเหลือ โดยปลุกกระแสสังคมให้คนในชุมชนเห็นถึงความสำคัญผ่านแนวคิด “โรงเรียนขนาดเล็ก = โรงเรียนของชุมชน” โดยแบ่งกลุ่มการแก้ไขและยกระดับคุณภาพโรงเรียนเป็น 3 กลุ่ม

1.โรงเรียนขนาดเล็ก ที่อาจจะต้องมีการควบรวมโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก 1-2 แห่ง เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ซึ่งต้องมีวิธีการบริหารจัดการโรงเรียนให้เกิดคุณภาพสูงสุด ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้ถูกยุบทิ้ง โดยหากนำโรงเรียนแต่ละแห่งมารวมกัน ทั้งการบริหารจัดการคุณครู นักเรียน เช่น การลดภาระหน้าที่งานธุรการ การนำโรงเรียนขนาดเล็กที่มีผู้บริหารและไม่มีผู้บริหารเข้าด้วยกัน จะมีการจัดการอย่างไร เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนให้มีคุณภาพสูงสุด

2.โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กประมาณ 120 คน และไม่ได้ขาดแคลนคุณครูในโรงเรียนจำนวนมาก โดยจะมีการใส่นวัตกรรมเข้าไปเพิ่มขึ้น เพื่อให้ เกิดการพัฒนาคุณภาพ นำมาสู่การยกระดับคุณภาพของโรงเรียนที่สูงขึ้น เด็กก็จะมีจำนวนมากขึ้น และสามารถยกระดับมาสู่โรงเรียนขนาดกลางได้

3.โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก และไม่สามารถยุบควบรวมร่วมกันโรงเรียนอื่นได้ หรือ ที่เรียกว่า “Stand Alone” โดยมีวิธีการดูแลเพื่อให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ ซึ่ง กสศ. จึงมีการนำโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่เข้ามาช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนเพิ่มขึ้น และพัฒนาชุมชน

ดร.อุดม กล่าวถึงการผลักดันข้อเสนอแนะทางนโยบาย ว่าการทำงานของ กสศ. ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา พบว่าในหลายโรงเรียนที่จะมีการทำงานร่วมกับองค์กรในท้องถิ่น ต้องมีการพูดคุยร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความมั่นใจเชิงวิชาการและนโยบายของท้องถิ่นด้านการศึกษาอย่างจริงจัง และต้องทำให้โรงเรียนขนาดเล็กแต่ละแห่ง เมื่อนำมารวมกันแล้วระบบการจัดการ จัดจ้างด้านธุรการ และการบริหารสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

การนำนวัตกรรมมาใช้ในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำมาสู่การยกระดับคุณภาพของโรงเรียน เพื่อยกระดับไปสู่โรงเรียนขนาดกลาง และเพื่อให้ตอบโจทย์คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ดร.อุดม มองว่า คุณครูถือเป็นหนึ่งในตัวกลางที่สำคัญ ในการวางรากฐาน และสามารถแก้ไขปัญหาระยะกลาง-ยาว ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่วนระยะใกล้ ภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการเข้ามาช่วยเหลือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างรวดเร็วในระยะใกล้ และมีการพัฒนาคุณภาพไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend