HUMANITY

กก. CESCR งงไทยเร่งผลักดันผู้หนีภัยสู้รบกลับฝั่งพม่า ชาวบ้านโอดชีวิตหนีอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่อยากอยู่บ้าน

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ทหารไทยได้ผลักดันชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหารกะเหรี่ยง KNU ด้านชายแดนริมแม่น้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กลับฝั่งพม่า ภายหลังจากที่อพยพเข้ามาหลบภัยฝั่งไทยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 แม้ชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยการสู้รบครั้งนี้พยายามอ้อนวอนขออยู่ต่อเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบยังไม่สงบเพราะเครื่องบินรบของกองทัพพม่ายังคงบินลาดตระเวนต่อเนื่องแต่ก็ได้รับการปฎิเสธ

มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนได้ลงคำสัมภาษณ์ชาวบ้านที่ถูกทหารไทยผลักดันกลับในครั้งนี้โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า “ตอนพวกเรามาถึง ทหารพรานที่ฐานแม่สะเกิบบอกว่า เราจะอยู่กันเกะกะริมแม่น้ำสาละวินให้คนผ่านไปผ่านมาเห็นไม่ได้หรอก ให้เดินขึ้นไปข้างบน ที่นั่นจะห้วย มีน้ำใช้ด้วย พวกเราจึงเดินตามกันไปราว 1 ชั่วโมงจนถึง “โกลป่า” (ไทยเรียกว่าแม่อูมปะ) แล้วก็พักกันอยู่ที่นั่น แต่เมื่อวาน ทหารที่มาจาก (บ้าน) ท่าตาฝั่ง กลับบอกว่า นี่ พวกคุณเข้ามาลึกในประเทศไทยแบบนี้ได้ยังไง เดี๋ยวเถอะจะโดนข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้ามาไม่มีบัตรมีใบอะไร ถูกจับได้นะ พวกเราก็ไม่รู้จะว่ายังไง เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งบอกให้เดินไปที่นั่น อีกกลุ่มหนึ่งก็มาบอกว่าพวกเราทำแบบนั้นผิดกฎหมายไทย”

“ทหารอีกคนที่พูดภาษาภาษาปกาเกอะญอได้ก็บอกว่า ทางข้างบนเค้าสั่งมาแหละ ว่าถ้ามีอะไรผิดสังเกตก็ให้ค้นดู ไม่มีอะไรหรอก แต่ตอนนั้นไม่มีใครอยากถามอยากพูดอะไรแล้ว เมื่อตอนเช้ามาก ๆ พวกเขายังมาค้นเพิงพักของชาวบ้านอีก 2 หลัง คนที่อยู่ในนั้นก็กลัวมากว่าตัวเองทำอะไรผิด”

“พวกเราหนีอยู่ตลอด หนีทหารพม่า หนีเครื่องบิน หนีน้ำป่า หนีพายุลม หนีโน่น หนีนั่นจนเหนื่อยเกินจะหนีไป ๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องทำ ตอนที่เราจะกลับ มีทหารไทยยืนอยู่ 2 คน ลุงคนหนึ่งยังขอบอกขอบใจเขาที่อนุญาตให้เราได้อยู่ที่นี่ พักหนึ่งก็ยังดี เราขอให้ในชีวิตพวกเขาไม่ต้องมาพบเจออะไรเลวร้ายแบบพวกเรา ขอไม่ต้องมาเจอเครื่องบินทิ้งระเบิดจนต้องหนีแบบพวกเรา”

ขณะที่สำนักข่าวกะเหรี่ยง Karen News รายงานคำให้สัมภาษณ์นางกะญอพอ เลขาธิการกลุ่มสตรีกะเหรี่ยง Karen Women’s Organization (KWO) ซึ่งระบุว่าเริ่มเข้าฤดูฝนจะยิ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบ คืนแรกที่กองทัพพม่าส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ฝนตกหนักมากเกิดน้ำป่าในพื้นที่ที่ชาวบ้านหลบกันอยู่ ที่ลำบากมากคือกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ป่วย และคนแก่ ที่ต้องช่วยกันอุ้มหรือแบกอย่างทุลักทุเล เวลานี้ยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากทางการไทยปิดถนนและเส้นทาง ทำให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านได้

นายซอโดโดเอลาคือ แพทย์ชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือวิกฤตมนุษยธรรม ชาวบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้งไข้ ท้องร่วง ปอดติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ผู้หนีภัยอยู่ในสภาพที่ไม่มีสุขลักษณะ เอาชีวิตรอดอาศัยอยู่ในเพิงพักในป่า ไม่มีน้ำดื่มสะอาด เหล่านี้จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอีกมาก รวมทั้งไข้มาลาเรีย หมอและเจ้าหน้าที่กะเหรี่ยงไม่มียาและอุปกรณ์เพียงพอ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาแล้ว 3 ราย และนับตั้งแต่รัฐประหารโดยกองทัพพม่า มีการปะทะในรัฐกะเหรี่ยงแล้ว 407ครั้ง มีเครื่องบินรบทิ้งระเบิด 47 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต14 ราย

ด้าน ดร.เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights – CESCR) ในคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกเห็นใจที่ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง และรู้สึกประหลาดใจด้วยเช่นกัน เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้ลี้ภัยจากฝั่งพม่าข้ามมาพักพิงในไทยซึ่งประสบการณ์ที่มีเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเมื่อปี 1988 ซึ่งได้มีการตั้งศูนย์อยู่ชายแดนและยังมีคนเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

“ครั้งนี้เกิดการผลักดันกลับทันที ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจว่าประสบการณ์ที่มีอยู่ ทำไมถึงไม่นำมาใช้ แต่เกิดเหตุผลักกลับทันที องค์ความรู้ที่เรามีอย่างน้อย 3 ระลอก น่าจะช่วยให้มีแนวปฎิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว จนกลายเป็นนโยบาย และเราได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยไม่ผลักเขากลับทันที แต่ให้ที่พักพิงในเบื้องต้น เรามีชายแดนที่ติดต่อกันยาวเหยียด ที่น่ากังวลคือวิธีปฎิบัติในกรณีนี้ จะถูกนำมาใช้กับกรณีอื่นด้วยหรือไม่” ดร.เสรี กล่าว

ดร.เสรีกล่าวว่า ไทยมีภาระของความใกล้ชิดกับพม่า ซึ่งกรอบอาเซียนกับพม่า และกรอบระหว่างไทยกับพม่า เราต้องแยกให้ออก คำถามว่ารัฐไทยทำไมปฎิบัติเช่นนี้ หรืออาจเป็นแค่กรณีนี้ แต่ถ้าเป็นแนวปฎิบัติทั่วไปก็ต้องกลับมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร เพราะมีหลายเหลี่ยมของเหตุการณ์ที่ต้องวิเคราะห์ ซึ่งตอนนี้นโยบายของรัฐไทยก็ยังเป็นไปตามกฏหมายระหว่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามย่อมเกิดปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะหากเจ้าหน้าในระดับปฎิบัติฝ่าฝืน ก็ต้องตั้งคำถามกับระดับนโยบาย

“ถ้าเราตั้งคำถามไปหลายครั้ง แล้วเขาไม่ตอบก็เท่ากับยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะหน่วยงานเฉพาะไม่ได้เสนอปฎิกริยาที่เหมาะสม เช่น ปฎิเสธ หรือยอมรับว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร” กรรมการ CESCR กล่าว และว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีแนวปฏิบัติมาตรฐานกรณีช่วยเหลือผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่แล้ว ว่าต้องให้ความเย็นเขาก่อน การผลักกลับเลยทำไม่ได้หากเหตุการณ์การต่อสู้ยังปะทุอยู่ซึ่งเป็นหลักทั่วไป ดังนั้นการผลักดันครั้งนี้ต้องตั้งคำถาม เมื่อการสู้รบยังเกิดอยู่ ทำไมเจ้าหน้าที่ด่านหน้าถึงไม่รู้นโยบายใช่หรือไม่ เพราะไม่ไม่สอดคล้องกับนโยบายเดิมและหลักการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยความตาย

Related Posts

Send this to a friend