HUMANITY

จับกัง 1 วอนดูแลแรงงานข้ามชาติเหมือนแรงงานไทย

จับกัง 1 วอนดูแลแรงงานข้ามชาติเหมือนแรงงานไทย บอร์ดแพทย์สปส.ชงตรวจโควิดฟรี นักวิชาการ-เอ็นจีโอร่วมขันน็อตมติ ครม.29 ธค.จดทะเบียนระลอกใหญ่ หวั่นลูกจ้าง 3 สัญชาติเข้าไม่ถึงเหตุค่าใช้จ่ายสูง-ระบบออนไลน์ล่ม

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ฟังคำถาม-หาคำตอบ วิกฤตโควิดในลูกจ้างข้ามชาติและแผนบริหารแรงงาน”โดยวิทยากรประกอบด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผศ.นฤมล ทับจุมพล นักวิชาการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ นายคายน์ มิน ลวิน อาสาสมัครกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนม่า นายวิชัย จันทวาโร ผู้ประสานงานเสมสิขาลัย และดำเนินรายการโดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย 

นายสุชาติ กล่าวว่ามติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เนื่องจากในวันที่ 19 ธันวาคม พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาครแยะมาก ทั้งที่เป็นแรงงานถูกกฏหมายและไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งชุดควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไปตรวจ โดยตรวจได้เฉพาะแรงงานที่ถูกกฎหมาย แต่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ผิดกฎหมายไม่กล้าเดินเข้ามาตรวจ และในวันรุ่งขึ้นมีการนำแรงงานข้ามชาติไปลอยแพที่สมุทรปราการ ซึ่งตนมีความคิดอยู่แล้วว่าหลังกลุ่มแรงงานต่างด้าวเอ็มโอยูกว่า 2 ล้าน 8 หายไป 3-4 แสนคน กลายเป็นอยู่แบบผิดกฎหมาย และยังมีกลุ่มที่เล็ดลอดมาจากชายแดนอีก ตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีว่าการแก้ปัญหาคัดกรองเชิงรุกต้องค้นหาผู้ใช้แรงงานต่างด้าวทุกคน ผู้ใดได้รับเชื้อก็จะได้นำมารักษาตามหลักมนุษยธรรม 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“ประเทศไทยไม่สามารถประกอบกิจการได้หากไม่มีแรงงานต่างด้าว ดังนั้นต้องเอาคนที่ผิดกฎหมายมาทำให้ถูกต้อง แต่หลายหน่วยงานกลัวว่าจะมีการเดินทางเข้ามาจากชายแดนอีกเยอะ ก่อนนำเรื่องเข้าครม. ผมได้หารือกับทูต 3 ประเทศคือ พม่า กัมพูชา ลาว โดยเขาขอเราทำให้คนงานที่อยู่ผิดกฎหมาย ได้ทำงานอย่างถูกได้หรือไม่ ผมจึงขอความร่วมมือกลับไปว่า ทำได้แต่ในชายแดนแต่ละประเทศต้องช่วยกันคนที่จะทะลักมาด้วย ซึ่งเขาให้ความร่วมมือ”นายสุชาติ กล่าว 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า เมื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้ ใครป่วยก็รักษา หากเราไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่มีใครค้นเจอได้ แต่ไม่ใช่กระทรวงแรงงานแค่หน่วยงานเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับมหาดไทยด้วย ตนจึงได้ไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ผ่อนผันแรงงานให้อยู่ต่อได้  และตนได้ทำหน้าที่อธิบายขั้นตอนต่างในที่ประชุม ครม. และเพื่อลดความแออัดหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัด เราเลยคิดใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด 

“ระบบนี้ทำให้เขาอยู่ได้ถูกต้อง และดูแลสุขภาพเขา เราคิดว่าการจดทะเบียนครั้งนี้น่าจะมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3-4 แสนคน ซึ่งตัวเลขนี้เราน่าจะบริหารจัดการได้ ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆประมาณ 9 พันบาท ถือว่าถูกกว่าเอ็มโอยู นายจ้างยอมอยู่แล้ว ทุกวันนี้การก่อสร้างใหญ่ๆหากไม่มีแรงงานข้ามชาติก็ไม่มีใครทำ เราจึงต้องดูแลพวกเขา เหมือนกับที่แรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้ปีละ 5 พันคน เขาดูแลแรงงานไทยเหมือนคนของเขา วันนี้เราก็ต้องดูแลแรงงานข้ามชาติในมาตฐานเดียวกัน”นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ในเรื่องของที่พักคนงานข้ามชาติที่อยู่กันอย่างแออัดนั้น หลังจากตรวจพบโควิดในแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร ตนได้เรียนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาสอบถามซึ่งได้รับคำตอบว่า การดูแลหอพักเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) แต่ตนก็ให้โจทย์ไปว่าทำอย่างไรนายจ้างถึงจ้างคนงานอย่างมีความสุข นอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมการแพทย์(บอร์ด) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กำลังพิจารณาเรื่องการออกค่าใช้จ่ายการตรวจแบบพีซีอาร์ให้กับผู้ประกันตน นอกจากนี้ สปส.ได้เพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับตรวจ ตอนนี้มีสถานประกอบการกว่า 30 โรงงาน สมัครเข้ามาและอนุญาตให้เราเข้าไปตรวจที่โรงงาน 

“ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ สปส.ควรมีช่องทางสื่อสารให้แรงงานต่างด้าว เพราะเก็บเงินเขามา เราต้องทำสื่อให้ครบ 3 ภาษา หรืออาจเพิ่มภาษาอังกฤษด้วย เรายอมรับในสิ่งที่บกพร่อง เราเก็บเงินเขามา ก็ควรมีช่องทางสือสารกับเขาด้วย”นายสุชาติ กล่าว

นายคายน์ มิน ลวิน กล่าวว่า ดีใจที่มีมติ ครม.29 ธันวาคม แต่ที่เป็นห่วงคือเรื่องของค่าใช้จ่าย แม้นายจ้างบอกว่าออกให้ แต่ความเป็นจริงก็ไม่จ่ายซึ่งลูกจ้างก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เราดีใจที่ทำให้คนผิดกฎหมายอยู่ถูกกฎหมาย และในความเป็นจริงต้องผ่านระบบนายหน้า ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ 9 พันบาท แต่สูงเป็น 1.2-1.3 หมื่นบาท เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่รับผิดชอบของกระทรวงแรงงานปรับได้อีกหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่าแรงงานมีผู้ติดตามที่อายุเกิน 55 รวมถึงเด็กด้วยไม่สามารถกลับบ้านได้ อยากให้ 2 กลุ่มอยู่ในระบบด้วย 

นายคายมินกล่าวว่า เรื่องประกันสังคม พอแรงงานต่าวด้าวโทรไปก็ไม่ได้คุย ไม่มีช่องว่างช่วยเหลือสำหรับแรงงานข้ามชาติเลย โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างทั้งหมด น่าจะเปิดช่องให้เราใช้สิทธิบ้าง ตนมีบัตรประกันสังคมเป็นสิบปี แต่ไม่เคยได้ใช้บริการ

ผศ.นฤมล กล่าวว่า เราเจอสถานการณ์ระบาดโควิด ระลอกแรกมีการปิดกิจการทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้าย ซึ่งมีประมาณกว่า 5 แสนคนที่หายไปจากระบบจากจำนวน 2.8 ล้านคน เขาไม่ได้กลับประเทศต้นทาง มติครม.ต้องการทำให้ตัวเลขที่หายไปขึ้นอยู่บนดิน มีโจทย์ 3 เรื่องที่กระทรวงแรงงานต้องช่วยคิดคือเรื่องค่าใช้จ่ายเกือบ 1 หมื่นบาท ถ้าไม่มีโควิดบริษัทนำเข้าคงดีใจเพราะไม่ต้องไปทำเอ็มโอยูที่ประเทศต้นทาง แต่แรงงานที่ไม่ใช่ลูกจ้างบริษัท จะสามารถจ่ายได้หรือไม่โดยเฉพาะบริษัทที่ปิดกิจการ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ หากไม่สามารถลดได้ ควรมีการผ่อนส่ง หรือจ่ายคนละครึ่ง ในโจทย์เศรษฐกิจ เราได้เก็บข้อมูลด้านระบาดวิทยา ปัญหาที่รุนแรงสุดคือเรื่องที่พักอาศัยที่แรงงานข้ามชาติอยู่กันอย่างแออัดและจำนวนมากไม่มีระบบประกันสุขภาพ

“สิ่งที่น่าทำมากที่สุด คือเป็นไปได้หรือไม่ แต่ละหน่วยที่ทำเรื่องนี้ อย่าต่างคนต่างทำ เป็นการส่งสัญญาณแปลกๆ ด้านหนึ่งให้ขึ้นทะเบียนแต่อีกด้านก็ยังจับพวกเขา ถ้าจะเซ็ตซีโรก็ต้องเซ๊ตซีโรจริงๆ ภาพที่ออกมาตอนนี้คือแต่ละหน่วยทำคนละแบบ อย่าลืมว่าตอนนี้ต่างชาติกำลังจับตาดูอยู่ว่าประเทศไทยทำอย่างไรเพราะเราเคยได้รับการชื่นชมในรอบแรกของโควิด” ผศ.นฤมล กล่าว

นายอดิศร กล่าวว่า มาตรการที่ควรดำเนินการคือ 1 รักษาแรงงานข้ามชาติที่ยังถูกกฎหมายให้อยู่ในระบบ 2 ดึงแรงงานที่อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง 3 ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย(ปิดคู่เปิด) โดยการเปิดจดทะเบียนครั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลคือค่าใช้จ่ายที่สูงและน่าจะสามารถลดลงอีกได้ ขณะเดียวกันระบบออนไลน์ก็เกรงว่าไม่สามารถลงทะเบียนผ่านอุปกรณ์อื่นๆที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ได้ ทำให้แรงงานไม่สามารถลงทะเบียนได้ และเชื่อว่าจะทำให้ระบบล่มในช่วงแรก ดังนั้นจึงควรป้องกันปัญหาไว้ก่อน และควรทำให้ทุกจังหวัดใช้ระบบเดียวกัน

นายอดิศรกล่าวว่า ยังมีระเบิดเวลา ที่แรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆที่เข้ามาถูกต้องกำลังสิ้นสุด โดยภาย 31 มีนาคมมีแรงงานกว่า 1.5 ล้านคนที่ต้องไปตรวจสุขภาพที่โรงพยายาล แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลปิดไม่ให้บริการ หากต่อวีซ่าไม่ได้กลายเป็นคนเถื่อนทันทีเป็นโจทย์ที่กระทรวงแรงานต้องคิดเพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้หลุดจากระบบ 

Related Posts

Send this to a friend