FEATURE

มองกรุงเทพฯ ในแบบ ‘ซัน-ชาคร’ ศิลปินผู้ออกแบบฟิกเกอร์พนักงานทำความสะอาด กทม. ‘Bangkok Keepers’

“พี่ ๆ เหล่านี้ก็เหมือนฮีโร่ที่อยู่ในเมืองเรา เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เมืองเดินไป ภาพเบื้องต้นของเราอาจไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น หรือสร้างอิมแพ็คอะไรมากมาย เราแค่อยากสร้างฮีโร่ของเมืองเราขึ้นมาจริง”

ซัน-ชาคร ขจรไชยกูล เจ้าของเพจ Suntudio เล่าถึงที่มาของโปรเจกต์ ‘Bangkok Keepers’ ซึ่งเป็นผลงานที่ต่อยอดมาจากการทำธีซิส (thesis) สมัยเรียนในมหาวิทยาลัย โดยนำเอาความชื่นชอบในการอ่านการ์ตูน comics และดูหนังซุปเปอร์ฮีโร่ มาผนวกกับการสร้างสรรค์ฮีโร่ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน แต่มักจะถูกมองข้ามไป

“ซุปเปอร์ฮีโร่บางทีเรามองว่า อย่างแบทแมน (batman) คอยช่วยเหลือคนตอนกลางคืน เราก็มีพี่ ๆ พนักงานดูดส้วมที่คอยออกปฏิบัติหน้าที่ตอนกลางคืน เพราะถ้าออกไปปฏิบัติหน้าที่ตอนกลางวันรถจะติด เขาก็ทำหน้าที่ตอนกลางคืนเหมือนกับฮีโร่ที่เราอ่านในหนังสือการ์ตูน”

จากความชื่นชอบฮีโร่ รวมถึงความชื่นชอบในงานปั้นตั้งแต่วัยเด็กของซัน เกิดเป็นไอเดียที่ซันอยากนำเสนอฮีโร่ของไทยที่มีธีมหลักมาจากกรุงเทพฯ เมืองที่เขาคุ้นเคย มาสร้าง character ของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยมีความคิดที่ว่า ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องมาจากความเป็นไทย ๆ แบบ traditional เสมอไป แต่กรุงเทพฯ ก็ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองของไทยที่คนกรุงเทพฯ หลายคนก็คุ้นชิน เช่นเดียวกับฮีโร่รถเมล์ และวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสะท้อนถึงขนส่งแบบไทย ๆ ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ซันในวัย 28 ปี เขามีความตั้งใจที่จะสร้างจักรวาลฮีโร่ของตัวเองขึ้นมาผ่านการเขียนเป็นการ์ตูน comics โดยมีฮีโร่กรุงเทพฯ คอยโลดแล่นอยู่ในจักรวาลของเขา โดยหยิบยกตัวร้าย และบริบทของความเป็นกรุงเทพฯ ที่พบเจอในปัจจุบัน นำไปใส่ไว้ใน comics ซึ่งนัยหนึ่งเป็นการสื่อสารแทนการทำงานของพนักงานทำความสะอาด กทม. ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ เลยไม่เคยพบเห็นอุปสรรคที่พวกเขาอาจพบเจอในแต่ละวัน

“บางทีมีคนไม่ได้แยกขยะไป เขา (พนักงานเก็บขยะ กทม.) ก็โดนเศษแก้วบาด เกิดเป็นบาดแผลแล้วก็ติดเชื้อขึ้นได้ ก็มีประสบการณ์จากที่คนเก็บขยะเขาโดนมาจริง ๆ เราก็มาต่อยอดต่อว่า (ฮีโร่) คนนี้ ก็ประสบอุบัติเหตุมาจริง ๆ”

ปัจจุบันซันยังคงสานต่อโปรเจกต์ Bangkok Keepers ของเขาผ่านช่องทางหลักในเพจ suntudio และพัฒนาต่อยอด โดยมีฮีโร่กรุงเทพฯ อยู่ใน comics ของเขา เฉกเช่นเดียวกับที่พนักงานทำความสะอาดของ กทม. ยังคงทำงานเพื่อทำให้กรุงเทพฯ สะอาดต่อไปในทุก ๆ วัน

จากความชอบในวัยเด็ก สู่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Bangkok Keepers

ซันเล่าให้ฟังว่า ในสมัยเด็กเขานั้นชื่นชอบในตัวฮีโร่มาก ๆ เขาผ่านการเติบโตด้วยการอ่านมังงะ comics ดูหนังซุปเปอร์ฮีโร่ ที่มีฮีโร่ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากมีฮีโร่ที่เป็น original ของประเทศ และของเมืองตัวเองขึ้นมาบ้าง นำไปสู่การสร้างฮีโร่ของตัวเองขึ้นมาภายใต้โปรเจกต์ Bangkok Keepers ในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว Bangkok Keepers เป็นโปรเจกต์ที่ซันเริ่มออกแบบขึ้นมาสมัยที่เขาต้องออกแบบธีซิสจบการศึกษา ในภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีโจทย์ของตัวเองว่าตั้งใจจะทำเป็นงานปั้นขึ้นมา เลยอยากจะออกแบบเป็น character ฮีโร่ของตัวเอง จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ซันมองถึงธีมหลักที่จะหยิบมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้น

“เราเกิดในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาตลอด พอเราอยากจะเริ่มสร้างฮีโร่ของไทย แต่ยังไม่อยากไปจับ traditional ของไทย ลายไทย หรือมวยไทย เราคิดว่าส่วนหนึ่งคนทำมาก และรู้สึกว่าถูกทำซ้ำอยู่เรื่อย ๆ เลยลองหามุมอื่นบ้างว่าอะไรที่มีความเป็นไทยโดยที่ไม่ได้พูดตรง ๆ ซึ่งสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวัน เห็นอยู่ทุกวัน เราจะถ่ายทอกออกมาได้ดีที่สุด เลยกลับมาเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ”

อย่างไรก็ตาม การมองหาสิ่งที่จะเป็นตัวแทนความหมายของคำว่า ‘ฮีโร่’ และเข้าถึงบทบาทได้แบบที่ใครเห็นก็เข้าใจได้ทันที เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อนักออกแบบเป็นอย่างมาก ความตั้งใจตั้งต้นของซันก็เช่นกัน ซึ่งแรกเริ่มฮีโร่ตัวแรกที่ซันนึกถึงคือ ‘รถเมล์’ เนื่องจากมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน รวมถึงเป็นรถโดยสารที่ซันขึ้นบ่อย แต่เหมือนพูดถึงความเป็นฮีโร่แล้ว อาจยังไม่ตอบโจทย์กับการเป็นฮีโร่ที่ดูเพียงแวบแรกก็ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า “นี่แหละใช่เลย”

“เราก็เลยไปเจอกับพี่ ๆ พนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพฯ และพอยิ่ง research ยิ่งค้นหาก็รู้สึกว่า ‘เออนี่แหละ’ มีความเป็นฮีโร่จริง ๆ โอเคว่าเขาก็ทำตามหน้าที่ แต่มันเป็นหน้าที่ที่บางครั้งก็ถูกมองข้ามไป บ้านเมืองมันสะอาดเรียบร้อยได้ก็เป็นเพราะเขาที่คอยช่วยซัพพอร์ตอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาทิ้งหน้าที่นี้ไป เหมือนเมืองก็เละ ทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นกลไกหนึ่งของเมืองที่ทำให้เมืองดำเนินไปได้”

ซันเล่าเพิ่มเติมว่า การออกแบบผลงานขึ้นมา ต้องมี ‘background’ และ ‘story’ เพื่อมายึดโยงในการสร้างตัว character ให้มิติมากขึ้น ดังนั้น เขาจึงใช้เวลาพัฒนา character ต่าง ๆ โดยยึดเอาบทบาทหน้าที่ของพนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพฯ มาเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มต้น จากนั้นศึกษาข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ เพื่อเข้าถึงเรื่องราวที่ใกล้เคียงกับที่สิ่งที่พนักงานทำความสะอาดของกรุงเทพฯ ต้องพบเจอ และต้องทำในแต่ละวัน

“ฮีโร่ที่สร้างขึ้นมาเป็นภาพกว้างในสิ่งที่พวกเขาต้องเจอในแต่ละวัน มันสะท้อนถึงสิ่งที่เขาเจอด้วย ทำให้เรามีประเด็นในการสร้างสรรค์ให้ character มีอะไรบางอย่างที่มันแข็งแรงมากขึ้น”

Bangkok hero ฮีโร่ที่มีแรงบันดาลใจจากบุคคลในชีวิตจริง

ตั้งแต่ที่ซันเริ่มทำ research หรือเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ซันจึงตัดสินใจที่จะสร้างฮีโร่กรุงเทพฯ ขึ้นมา โดยมีต้นแบบมาจากพนักงานทำความสะอาด ประกอบด้วย คนกวาดถนน คนเก็บขยะ และคนดูดส้วม เกิดเป็นตัวละครฮีโร่ทั้ง 3 ตัว คือ Sweeprine, The Trash และ Plunger Man โดยตัวละครทั้งหมดถูกออกแบบโดยใช้ต้นแบบมาจากยูนิฟอร์มของพนักงานทำความสะอาดจริง พร้อมกับมีแถบเรืองแสง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดของพนักงานทำความสะอาด ถูกใส่ไว้ตัวละครทั้งสามตัวเช่นกัน

Sweeprine คือซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีต้นแบบมาจากคนกวาดถนน โดยแต่ละวันคนกวาดถนนจะต้องพบเจอกับแดดที่ร้อน เนื่องจากต้องกวาดในที่โล่งแจ้ง กลายเป็นที่มาของพลังความร้อน ซึ่งได้รับจากการที่สั่งสมผ่านการตากแดด และซึมซับกับความร้อนระหว่างกวาดถนนมาเป็นเวลานาน

“พี่คนกวาดถนน เขากวาดถนนตอนกลางวันทุกวัน ต้องทนกับแดดร้อน ๆ อากาศร้อน ๆ ซึ่งเราก็เข้าใจมาก ขนาดเราออกจากห้องแอร์ไปเจออากาศร้อนเราก็จะไม่ไหวแล้ว แต่เขาต้องทนอยู่อย่างนั้นตั้งแต่เช้าจนบ่าย เราเลยเอาจุดนี้มาเป็น inspiration มาสร้างพลังให้เขาซึมซับความร้อนตอนที่กวาดถนนตอนกลางวันเป็นเวลานาน ๆ เขาดูดความร้อนเข้ามา แล้วปล่อยออกมาเป็นไฟได้”

The Trash ซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีต้นแบบมาจากคนเก็บขยะ ออกแบบโดยนำเอาจุดเด่นบางส่วนของตัวรถขยะมาใช้ รวมถึงสีเขียวที่เป็นลักษณะเฉพาะ เพื่อให้คนมองเห็นแล้วเข้าใจโดยง่ายว่าเกี่ยวข้องกับพนักงานเก็บขยะ พร้อมนำเอาเรื่องราวของตัวละครมาจากเหตุการณ์จริงที่พนักงานเคยโดนเศษแก้วบาด จนแผลเกิดติดเชื้อ ซึ่งตัวละคร The Trash ก็ประสบกับเหตุการณ์นี้จนต้องเสียแขนไป กลายเป็นฮีโร่ที่ใช้แขนกลแทน

Plunger Man ฮีโร่ลุงดูดส้วม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของลุงที่ใกล้เกษียณแล้วมาสร้างเป็นตัวละครที่ใกล้เคียง ขณะที่องค์ประกอบอื่นของฮีโร่อย่างถังที่ห้อยอยู่ด้านหลัง ก็มีต้นแบบมาจากรถดูดส้วมในชีวิตจริง รวมถึงสีเหลืองซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของรถดูดส้วม ก็ถูกนำมาใช้เป็นสีประจำเครื่องแบบฮีโร่ของเขาเช่นกัน

”เราไปสัมภาษณ์มา เป็นลุงที่ใกล้เกษียณแล้ว และเขาก็ดูดส้วมมาทุกวัน เขาบอกว่าวันไหนที่เขาไม่ได้ดูดส้วม แล้วไม่ได้กลิ่น เขาจะรู้สึกหงุดหงิด มันอินสปายให้กับเรามาก เลยออกแบบให้ฮีโร่ตัวนี้มีการสูดดมกลิ่นตลอดเวลา พอได้รับกลิ่นแล้วจะมีพละกำลังขึ้น ทั้งหมดนี้เราก็เขียนไว้ใน comics ด้วยว่าแต่ละคนเขาได้รับพลังมายังไง”

Bangkok hero ที่ซันสร้างสรรค์ขึ้นมา จึงไม่ได้เกิดจากการจินตนาการตัวละครของซันเท่านั้น หลายเรื่องราวสะท้อนถึงความเป็นกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์ของพนักงานทำความสะอาดกรุงเทพฯ ที่พวกเขาต้องพบเจอจากการทำงานในชีวิตจริง เช่น การตากแดดเป็นเวลานาน ๆ ของพนักงานกวาดถนน ยิ่งในยุคภาวะโลกเดือด ทำให้นึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ และอันตรายจากคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน อันส่งผลต่ออันตรายแก่พวกเขาได้

นอกจากนี้ เรื่องราวของพนักงานเก็บขยะที่ได้รับบาดเจ็บจากขวดแก้วระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ใส่ใจกับการแยกขยะอย่างจริงจัง หรือให้ความสำคัญกับการนำเศษแก้วที่แตกมาห่อหุ้มให้หนาแน่น เพื่อความปลอดภัย และป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บของคนที่ต้องมาเก็บขยะที่เราทิ้ง

พนักงานดูดส้วม ที่ต้องทำงานอยู่กับสิ่งปฏิกูลอันไม่พึงประสงค์ ที่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ ยังรู้สึกอยากออกห่างจากกลิ่นเหล่านี้ แต่กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องพบเจอในกิจวัตรจนเป็นอาจิน ทำให้เขาคุ้นชินกับกลิ่นเหล่านี้จนกลายเป็นความปกติที่ต้องได้รับกลิ่นในทุก ๆ วัน ดังนั้นกลิ่นที่หลายคนต่างสะอิดสะเอียน ก็มีพนักงานดูดส้วมที่ทำงานอยู่กับกลิ่นเหล่านี้ เพื่อให้สุขอนามัย และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนห่างไกลจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์แทน

การสร้างซุปเปอร์ฮีโร่ โดยนำเรื่องราวของพวกเขามาใช้ เป็นภาพแทนที่สื่อให้เห็นว่าในทุก ๆ วัน เราอาจมองข้ามคนบางกลุ่มที่คอยทำงาน หรือเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เมืองขับเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดจากการใช้ชีวิตของเรา ทั้งขยะ หรือของเสียต่าง ๆ ซึ่งเขาเหล่านี้คงไม่ต่างจาก ‘แบทแมน’ ฮีโร่ที่ซันเปรียบไว้ เพราะพวกเขายังคงทำหน้าที่ต่อไปในมุม ๆ หนึ่งที่สังคมอาจมองข้ามไป โดยที่มีบางคนเห็นตัวตนของพวกเขาบ้าง และบางคนก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก

กรุงเทพมหานคร มิติของความเป็นเมืองที่มากกว่าเรื่องความสะอาด

ซันเล่าให้ฟังว่า โปรเจกต์ของเขามี base มาจากกรุงเทพฯ แล้วหยิบจับประเด็น และเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีอยู่มาครีเอทตัวละคร และเรื่องราวขึ้น โดยเรื่องราวของพนักงานทำความสะอาด เป็นเรื่องราวที่มีความเป็นฮีโร่เด่นชัด ซังจึงหยิบเรื่องของพวกเขามานำเสนอในสมัยที่เริ่มต้นทำธีซิส แต่กรุงเทพฯ ที่ซันมองเห็น ยังมีหลายเรื่องราวหลากมิติที่เป็นประเด็นให้ซันอยากนำเสนอออกมา

“เราก็อยากต่อยอดจักรวาลแบบมีฮีโร่อื่น ๆ เลยมาคิดไปที่เซตฮีโร่กลุ่มอื่นดู ก็ลองเป็นขนส่งของกรุงเทพฯ ดูบ้าง จริง ๆ แล้ว character ในกลุ่มกรุงเทพฯ เด่นชัดอยู่หลายอย่าง เช่น รถเมล์ ตุ๊ก ๆ วินมอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั้งรถเข็น รถขายผลไม้ รถไอติม ซึ่งมี character ที่เด่นมาก และยังไม่มีใครจับไปเล่นสักที เรารู้สึกว่ามันมีอะไรที่ให้เอาไปเล่นอยู่ มีความ unique และเข้มข้นของมันอยู่แล้ว เลยอยากหยิบสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นฮีโร่อีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมา”

นอกจากฮีโร่สามตัวที่ซันออกแบบมาตั้งแต่สมัยธีซิสแล้ว ซันต่อยอดงานผ่านฮีโร่กลุ่มใหม่ ที่พูดถึงเรื่องราวบนท้องถนน และการจราจรของกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหารถติด และปัญหาเรื่องความเป็นระเบียบบนท้องถนน ประเด็นที่ซันวางไว้เป็นการผสานเรื่องราวเข้ากับความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามามีบทบาทในการควบคุมการจราจรของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่ง AI เกิดข้อผิดพลาด (เพราะปัญหาการจราจรที่มีมากเกินไป) จนฮีโร่รถเมล์ ฮีโร่ตุ๊ก ๆ และฮีโร่วินมอเตอร์ไซค์ ต้องออกมาปกป้องเมืองของพวกเขาไว้

ในมุมมองของการออกแบบตัวร้าย ซันอธิบายว่ากรุงเทพฯ มีความขัดแย้ง และความหลากหลายมากมาย หากจะหาตัวร้าย ในช่วงเริ่มแรก อยากให้เป็นตัวร้ายที่เข้าถึงได้ง่ายก่อน จึงเลือกนำเสนอตัวร้ายที่เป็นมอนสเตอร์ ซึ่งเป็นลักษณะของสิ่งชั่วร้ายที่เข้าใจง่าย ยังไม่ต้องเป็นตัวร้ายที่มีมิติอะไรมากมาย โดยมอนสเตอร์ที่นำมาใช้ออกแบบก็มาจากสิ่งที่พบเจอได้ในกรุงเทพฯ เช่น หนูท่อ และตัวเงินตัวทอง

“อย่างตัวเงินตัวทองก็รู้สึกว่าเป็นตัวร้ายที่เอาเรื่องเหมือนกันนะ เดินได้ วิ่งได้ ปีนต้นไม้ได้ ว่ายน้ำได้ มีหนังหนา มีกรงเล็บ กัดได้ ติดเชื้อจากน้ำลายได้ ครบเครื่องในตัวของมัน เราก็ต่อยอดเหมือนทฤษฎีสมคบคิด ช่วงหนึ่งที่มีตัวเงินตัวทองเยอะมากตามสวนสาธารณะ แล้วมีข่าวว่าหน่วยงานเขาลงไปจับ เราเลยคิดเล่น ๆ ต่อว่า เขาจับแล้วเอาไปไว้ไหน ? เอาไปทำอะไรต่อ เอาไปทดลองหรือเปล่า ? หรือเอาไปสร้างสัตว์กลายพันธุ์หรือเปล่า ?”

ทั้งนี้ ความเป็นกรุงเทพฯ จริงมีหลายหลายมิติที่เกิดขึ้น และมีลักษณะเฉพาะ เช่นเดียวกับปัญหาของความเป็นเมืองที่ตามมาอย่างหลากหลาย เช่น การจราจร ความสะอาด สภาพทางเท้า และอีกมากมาย ซึ่งความตั้งใจของซันไม่ได้ต้องการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพูดถึงประเด็นของปัญหาโดยเฉพาะ เป็นเพียงความต้องการที่จะนำเสนอ ‘ภาพแทน’ (Representation) ของสภาพกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่จริง นำมาจำลองไว้ใน comics ที่เขาสร้างขึ้น โดยสร้างเรื่องราวเสริมขึ้นมาให้มีสีสัน และความสนุกในแบบของซันให้คนอ่านเข้าถึงได้

“เรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันมีเสน่ห์หลาย ๆ อย่างของมันอยู่ ที่บางทีก็มีปัญหามากมาย เช่น รถติด ฝุ่น ขยะ เหมือนเราก็ไม่อยากจมกับปัญหาเหล่านั้น เราอยากจะเอาพวกนี้มาเล่นบ้าง เช่น ฟุตบาทที่มีน้ำนอง ซึ่งเราก็ไม่ได้ถึงขั้นมา Romanticize ว่าสิ่งนี้คือกรุงเทพฯ ที่น่ารัก ให้ทุกคนเก็บสิ่งนี้ไว้ เราก็เอามาล้อ แต่ถ้ามีคนเห็นแล้วเกิดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมันก็ดีกว่า เราก็อยากจะมีฟุตบาทที่ดี ที่ไม่มีน้ำกระเด็นออกมา”

ผลงาน Bangkok hero ที่ซันสร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่ได้พยายามที่จะไปถึงการผลักดันที่จะแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างที่กรุงเทพฯ กำลังเป็น แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนที่แวะเวียนเข้ามาดู หรือติดตามผลงานของเขาได้มองกรุงเทพฯ ในอีกมุมที่อาจละเลยไป เปรียบเสมือนการให้ผู้คนที่ผ่านเข้ามา อาจได้กลับมาย้อนคิดด้วยว่าเบื้องหลังของเมืองที่เราอยู่ ก็มีคนบางกลุ่มที่คอยขับเคลื่อนเมืองในแต่ละมิติอยู่เช่นกัน

“เราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ แต่เราก็ดีไซน์สร้างสรรค์ในรูปแบบที่เราทำได้ แล้วถ้าทำให้มีคนฉุกคิดถึงพี่ ๆ ที่รักษาความสะอาด หรือฉุกคิดถึงเรื่องเมืองที่ควรจะดีกว่านี้ มันก็เป็นผลดี และคงจะดีถ้ามันไปสร้าง inspiration ให้พี่ ๆ เขามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น หรือคนที่มาอ่าน comics ของเราแล้วเห็นว่า พี่ ๆ เขามีความสำคัญต่อเมืองมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี”

มองสิ่งรอบตัวในแบบซัน จินตนาการออกมา แล้วลงมือทำ

ซันเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เขาก็เป็นเหมือนคนกรุงเทพทั่วไปที่ไม่ได้ใส่ใจ หรือโฟกัสถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในระหว่างการใช้ชีวิต แต่หลังจากที่ซันเริ่มลงมือทำโปรเจกต์ Bangkok Keepers ซันก็เริ่มใส่ใจต่อรายละเอียดรอบตัวมากขึ้น จากที่เดินผ่านตึกเก่า ๆ ก็มีเรื่องราวเข้ามาในหัว มองถึงรายละเอียดของตึกที่ลึกเข้าไปอีก มองพนักงานทำความสะอาดว่าเขากวาดบริเวณไหน มีขยะประเภทไหนในแถบนั้น หรือแม้แต่รถเมล์ที่ขับผ่าน ก็จินตนาการเป็นซีนฮีโร่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร ทำให้เมืองดูสนุกมากขึ้น

“พออยู่ไปนาน ๆ จนชิน บางทีคนก็เดินผ่านโดยที่ไม่สนใจมัน พอเราสนใจมัน และหยิบจับ ก็มีไรสนุก ๆ ให้เล่น ยิ่งพอเรามาทำโปรเจกต์นี้ ยิ่งทำให้เราใส่ใจรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งถ้าเรามองด้วยเลนส์ของคนกรุงเทพทั่วไป เราก็จะไม่ได้โฟกัสกับสิ่งเหล่านี้ เราจะแค่ใช้ชีวิตในแต่ละวันไปเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามซันพึ่งเริ่มกลับมาสานต่อโปรเจกต์ Bangkok Keepers หลังจากเรียนจบมาได้ 5 ปี เนื่องจากเป็นสิ่งที่ซันจะต้องแบ่งเวลาจากการทำงาน เพื่อมาลงทุนและออกงานต่าง ๆ ให้คนรู้จักกับผลงานของเขา แต่ซันเองก็มองว่า การได้กลับมาจับ กลับมาลงมือทำโปรเจกต์ Bangkok Keepers ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ซันอยากทำมาโดยตลอด

ปัจจุบันซันสานต่อโปรเจกต์ Bangkok Keepers จากทีเดิมทีถูกออกแบบมาเป็นงานโมเดลในลักษณะของงานปั้น ก็จะนำเรื่องราวของตัวละครมาสร้างออกมาเป็น comics และผลิตขายผ่านช่องทางเพจ Suntudio เป้าหมายที่ซันคาดหวังไว้คือการเขียนหนังสือต่อไปให้เกิดความต่อเนื่อง และจะมีเรื่องราวของแต่ละตัวมากขึ้น รวมถึงจะขยายไปยังตัวละครอื่น ๆ ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจะผลิตขายให้เหมือนอาร์ททอยให้ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ซันยังออกแบบเป็นสินค้าในไลน์ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ ผ่านการทำสติ๊กเกอร์ หรือแม็กเน็ตลายฟุตบาท ในทำนองลักษณะของ ‘Bangkok object’ ที่ทำออกมาเป็นของกระจุกกระจิก ซึ่งหากเป็นไปได้ ซันก็พยายามที่จะออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องความเป็น Bangkok object เพื่อเป็นตัวสื่อสารของ กทม. หรือสื่อสารแทนพนักงานทำความสะอาดของ กทม. ต่อไป

ภาพ: ศุภสัณห์ กันณรงค์

ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข ผู้เขียน

Related Posts

Send this to a friend