FEATURE

เปิดกระบวนการบังคับโทษ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จากคำพิพากษา 4 คดี จำคุก รวม 10 ปี

เปิดกระบวนการบังคับโทษตามคำพิพากษา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จากคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 4 คดี ต้องโทษจำคุก รวม 10 ปี ทันทีที่ถึงไทย 10 สิงหาคม 66 จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษและพักโทษ ตามขั้นตอนปกติ

คำยืนยันจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวน้าครอบครัวเพื่อไทยในฐานะบุตรสาว เป็นที่เชื่อถือได้ว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศไทยแน่นอน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นี้ ถือเป็นการเดินทางกลับประเทศไทย ในรอบ 15 ปี 10 วัน หลังจาก ดร.ทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศไทยในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นการได้กลับประเทศไทยครั้งแรก หลังการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2559 เป็นการได้อยู่ประเทศไทย เป็นเวลา 5 เดือน 2 วัน

สำหรับขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางถึงประเทศไทย ที่สนามบินดอนเมือง ตามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว เปิดเผยนั้น น่าจะมีขั้นตอนการรับโทษและไปสู่การขอพระราชทานอภัยโทษหรือการขอพักโทษดังนี้

1.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง

2.เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ นำใบแดงแจ้งโทษ เข้ารับตัวผู้ต้องหาตามคำพิพากษาของศาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการบังคับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีเพียงตำรวจกับเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์​และเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ไม่เกี่ยวกับทนายความหรือศาลแล้ว

3.ดร.ทักษิณ จะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

4.วันแรกที่ ดร.ทักษิณ เข้าเรือนจำสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายได้ โดยถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติในแต่ละปี ที่จะให้โอกาสนักโทษเป็นการทั่วไปตามวาระสำคัญในปีนั้นๆ ประกอบคุณงามความดีที่ได้กระทำมา

5.ดร.ทักษิณ สามารถเข้าสู่กระบวนการพักโทษได้ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์​โดยเฉพาะหลักเกณฑ์​อายุ 70 ปี ซึ่งปัจจุบัน ดร.ทักษิณ อายุ 74 ปี จึงถือว่าเข้าหลักเกณฑ์​

ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

การกลับประเทศไทยครั้งนี้ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการบังคับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งมีจำนวน 4 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต้องโทษจำคุกรวม 10 คดี ในจำนวนนั้นมี 1 คดีที่หมดอายุความไปแล้ว คือ คดีที่ดินรัชดา โดยแต่ละคดีมีรายละเอียดดังนี้

1.คดีซื้อที่ดินรัชดา ศาลฎีกามีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลมีคำพิพากษาว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร (จำเลยที่ 1 ) มีความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 มาตรา 100 (1) วรรคสามและมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้โทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นให้ยกฟ้อง สำหรับ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (จำเลยที่ 2 ) ให้ยกฟ้อง และศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ซึ่งคดีนี้หมดอายุความไปแล้ว

2.คดีเอ็กซิมแบงค์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ กิจการโทรคมนาคมจากบริษัท เครือชิน คอร์ป (คดีที่ คตส.โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าเป็นคู่ความเป็นโจทก์ฟ้อง ดร.ทักษิณ )

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ศาลมีคำพิพากษาว่า ดร.ทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) องค์คณะโดยมติเสียงข้างมากให้จำคุก 3 ปี

3.คดีโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขัดต่อ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง ทำให้รัฐเสียหาย 14,862 ล้านบาท (คดีที่ คตส.โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าเป็นคู่ความแทน)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม./2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ศาลมีคำพิพากษาว่าการกระทำของ ดร.ทักษิณ จำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้อื่น โดยรวมกระทำการกับ จำเลยที่ 10 ที่ 31 และที่ 42 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และมีมติเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุก 2 ปี

4.คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท (อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ดร.ทักษิณ เป็นจำเลย) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2561

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ศาลมีคำพิพากษาว่า ดร.ทักษิณ มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

โดยองค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแล กิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลย ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจาก โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับการเดินทางกลับประเทศไทยของ ดร.ทักษิณ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 จะแตกต่างจาการเดินทางกลับประเทศไทยของ ดร.ทักษิณ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ​2551 ซึ่งเป็นการเดินทางกลับไทยครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะปฏิบัติภารกิจนายกรัฐมนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากพรรคพลังประชาชน ที่เป็นพรรคใหม่หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล จึงทำให้ ดร.ทักษิณ สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

การเดินทางกลับไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามชื่อตำแหน่งในขณะนั้น เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางด้วยเครื่องบินเที่ยวบิน TG 603 จากฮ่องกง โดยมีครอบครัวให้การต้อนรับ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด จนเกิดภาพ

‘ทักษิณ กราบแผ่นดินแม่’

แต่การเดินทางกลับครั้งนั้น มีรายงานว่าต้องการกลับมาเพื่อต่อสู้คดีที่ดินรัชดา แต่ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถเชื่อมั่นให้ ทำให้ในวันที่ 31 กรกฏาคม 2551 -10 สิงหาคม 2551 ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น และจะไปร่วมพิธีเปิดโอลิปิกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน กับ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ แต่ต้องกลับมารายงานตัวในคดีที่ดินรัชดา ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551

ดร.ทักษิณ เดินทางออกจากประเทศไทย ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ส่วน คุณหญิง พจมาน ชินวัตร เดินทางออกไปวันที่ 5 สิงหาคม 2551 รวมเวลาที่อยู่ประเทศไทยครั้งแรก 5 เดือน 2 วัน โดยหลังจากวันนั้น ดร.ทักษิณ ไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย นับถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ก็จะรวมเวลา 15 ปี 10 วัน

มีรายงานว่า การตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยครั้งนี้ ดร.ทักษิณ มีเหตุผลส่วนตัวเพื่อครอบครัว ทั้งเรื่องอายุและอยากกลับมาอยู่กับหลาน และได้ประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงการเดินทางกลับไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม นี้ แม้จะมีการคาดการณ์ทางการเมืองว่า จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 3 สิงหาคมนี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่า นายเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลในสูตรไหน ดร.ทักษิณ ก็ยังเดินหน้ากลับไทยตามที่ประกาศไว้ และเป็นการเข้าเรือนจำ ติดคุก โดยต้องเตรียมใจยอมรับไว้ล่วงหน้าแล้วในกรณีเลวร้ายที่สุดว่า มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ไม่ว่าจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหรือพักโทษหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง

Related Posts

Send this to a friend