อีกเสียงสะท้อนจากผู้ที่ทำอาชีพนี้มากว่า 40 ปี เจริญ โต๊ะอิแต หรือ บังมุ ประมงพื้นบ้านที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช เล่าว่าในหมู่บ้านของเขามีเรือประมงกว่า 200 ลำ ผลผลิตหลากชนิดที่หาได้จากประมงพื้นบ้านก็จะส่งขายตามตลาดในชุมชน โดยส่วนใหญ่เป็นปลาทู แต่ก็มีชนิดที่มีราคาและอร่อย อย่าง ปูม้า กุ้งแชบ๊วย ติดอวนมาด้วย
“จากสถานการณ์ที่มีโรคระบาดทำให้เราเจอปัญหาหลายเรื่อง เช่น การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานช่วง 4 ทุ่ม – ตี 4 ขณะที่ชาวประมงจะออกเรือตอนตี 2 แต่รัฐมองเห็นปัญหาจึงให้ไปทำเรื่องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านเป็นกรณีไป ผลกระทบอีกส่วนคือราคาสัตว์น้ำ เช่น กั้งจากราคา กิโลกรัมละ 1,000 บาท เหลือ 450 บาท ปลาทูจาก กิโลกรัมละ 120บาท เหลือ 50 บาท ทำให้เราต้องขายถูกกว่าปกติด้วยความจำเป็น ที่ตลาดคนก็จับจ่ายใช้สอยกันน้อยมาก ถ้าไม่อยากเหลือกลับบ้านก็ต้องแจก แต่อย่างน้อยพวกเราก็มีอาหารที่สมบูรณ์ให้กิน”
ชาวประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ราวหนึ่งแสนคนอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐเป็นรายครอบครัวด้วยนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร โดยที่ผ่านมามีการลงทะเบียนไว้แล้วแต่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด บังมุบอกว่าเขาเข้าใจดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะให้ภาครัฐช่วยเหลือคนจำนวนมากให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็วคงเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขายังคอยอยู่ ด้วยหวังว่าจะได้การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ
บังมุ อยู่ในเครือข่ายทำงานของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและได้ร่วมโครงการทูตอาหารทะเลที่รวบรวมอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เขามองว่าโครงการนี้ได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้พี่น้องชาวประมงบางส่วน แม้ว่าอาจได้ไม่เต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขาเล็งเห็นคือการได้ช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง