FEATURE

กระตุ้นสังคมเข้าใจ ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว คู่ชีวิตไม่ใช่เจ้าชีวิต

ปัจจุบันผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิด คู่รัก หรือคนในครอบครัว โดยไร้ทางสู้ และถูก “ดูดาย” จากคนรอบตัว ครอบครัว หรือสังคม จนบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ก็ยังไม่กล้าบอกใคร เพราะ “กลัว” ไปหมด เนื่องจากมีหลายมิติที่ฝ่ายหญิง ต้องคิดอย่างรอบด้าน และไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นคนธรรมดา หรือผู้มีอิทธิพล ความกลัวที่ผู้หญิงมีก็ไม่ต่างกันเลย ยิ่งในวันที่สังคมยังไม่เข้าใจ และตั้งคำถามกับการออกมาพูดของผู้หญิง

The Reporters ได้สอบถามไปยัง คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เกี่ยวกับการรับมือ กับปัญหาผู้หญิงถูกทำร้าย กระทั่งกลายเป็นบาดแผลทางใจ ที่ไม่สามารถบอกใครได้ เนื่องจากคนในสังคมมักจะมองว่าปัญหาดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องของคนในครอบครัว กระทั่งพ่อแม่มักจะบอกให้ลูกสาวเป็นฝ่ายที่อดทน เพื่อให้ผู้หญิงที่ได้ผลกระทบ จากความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีทางออก ล่าสุดมีคำแนะนำในการแก้ไข ปัญหาความรุนแรง ที่นับเป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิง ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ด้วยการบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้

จะเด็จ กล่าวว่า “สาเหตุสำคัญของปัญหา ที่ผู้หญิงถูกระทำรุนแรงโดยสามีหรือคู่รัก กระทั่งความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัวเอง และไม่กล้าพูดและไม่กล้าบอกใคร เนื่องจากทัศนคติชายเป็นใหญ่ หรือการที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง อีกทั้งปัญหาดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และการที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาฝ่ายชาย พูดง่ายๆว่าบางครอบครัวผู้หญิง ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือต้องขอเงินจากสามีเป็นต้น ดึงนั้นการที่ผู้หญิง จะออกมาจากความขัดแย้ง ของคู่สมรสนั้นอาจจะไม่ง่าย หรือหากฝ่ายชายนั้นเป็นคนที่อยู่ในเครื่องแบบ ฝ่ายหญิงที่เป็นฝ่ายถูกทำร้าย ก็ยิ่งไม่กล้าบอกให้ใครรู้

ครอบครัวและคนรอบข้าง ต้องสนับสนุนผู้หญิงไม่อดทน ไม่ยอมรับความรุนแรงจากทัศนะคติชายเป็นใหญ่  

สิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะออกมาพูด หรือกล้าบอกสังคมว่าตัวเอง เคยถูกสามีหรือคู่รักทำร้ายร่างกายนั้น จะต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงกลุ่มนี้ อย่างเคสที่เป็นข่าวนั้นก็เรียกได้ว่าเกือบแย่ แต่ดีที่มีเพื่อนมาช่วยได้ทัน ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาพูด หรือออกมาร้องทุกข์ อย่าอดทนแม้เป็นผู้หญิงหรือลูกสาว และต้องชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายนั้น ไม่ใช่เพราะผู้หญิงเป็นฝ่ายผิด ดังนั้นเพื่อนและครอบครัว สามารถพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ได้ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเร่งเข้ามาเยียวยา และช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ที่สำคัญจะต้องแก้โจทย์ที่ว่า “ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” หรือต้องไม่มองว่าถ้าเราเข้าไปช่วยผู้ที่ถูกทำร้ายแล้ว ตัวเองจะเป็นหมา ดังนั้นคนในสังคมที่เกี่ยวข้อง ต้องตัดเรื่องนี้ทิ้งไปด้วยเช่นกัน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้เสียหาย ที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ

พื้นที่ปลอดภัยที่หลากหลาย ช่วยกระตุ้นผู้หญิงกล้าขอความช่วยเหลือ เพื่อเป็นอุทาหรณ์และป้องกันความรุนแรงในสังคม

คำว่าพื้นที่ปลอดภัย เช่น การที่ตำรวจเข้ามาดูแล โดยตำรวจลบคำว่า เรื่องในครอบครัวออกไป ซึ่งเป็นเคสที่เคยเกิดขึ้นจริงกับมูลนิธิอย่าง เช่น ในกรณีที่ผู้หญิงถูกฝ่ายสามีทำร้าย กระทั่งฝ่ายหญิงตัดสินใจว่าจะขอเลิกลาอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายผู้ชายไม่ยอมเลิกลา ซึ่งเคสนี้ตำรวจได้เข้ามาช่วยฝ่ายหญิงขนของเพื่อย้ายไปอยู่บ้านใหม่ กระทั่งฝ่ายชายยอมเลิกลา ไม่กล้าบุกมาทำร้ายฝ่ายหญิงอีก หรือพูดง่ายๆว่ามีตำรวจมาคอยคุ้มครองในระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งฝ่ายชายไม่กล้า กลับมารุกรานฝ่ายหญิง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นตัวอย่าง ของพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ที่ปัจจุบันมีน้อยมาก ดังนั้นนอกจากสายด่วน 1300 ของกระทรวงพม.แล้ว ยังมี 191 ของสถานีตำรวจ หรือแม้แต่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 02-513- 2889 ก็สามารถโทรมาได้ ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้ว่าจะมีศูนย์พึ่งได้อยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากมีเบอร์สายด่วนในการรับแจ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ กรณีผู้หญิงถูกทำร้าย หรือถูกกระทำรุนแรงทางเพศทั้งจากคู่สมรส หรือคนในครอบครัว ก็จะมีประโยชน์ เช่นกันครับ ที่สำคัญต้องเข้ามาช่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันการณ์เช่นเดียวกัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งแก้กฎหมาย และบังคับใช้อย่างเข้มข้น-วอนผู้หญิงไม่เชื่อคำขอปรับปรุงตัว

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหญิงนั้น ไม่สามารถก้าวออกจาก ความขัดแย้งและความรุนแรง จากสามีได้นั้น เพราะฝ่ายชายนั้น มักจะใช้จุดอ่อนของผู้หญิง เช่น การขอโทษ และขอโอกาสในการปรับปรุงตัว กระทั่งการเอาใจฝ่ายหญิง ด้วยการมอบของขวัญ หรืออาหารดีๆเพื่อทำให้ฝ่ายหญิงหายโกธร ดังนั้นผู้หญิงไม่ควรเชื่อ เรื่องการปรับปรุงตัวเอง เพราะอันที่จริงแล้วไม่สามารถเป็นไปได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กลไกลทางกฎหมาย เข้าช่วยโดยการบังคับใช้อย่างเข้มข้นและจริงจัง เช่น พรบ.ความรุนแรงในครอบครัว หรือใช้กลไกลทางกฎหมาย เพราะการทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น เป็นความผิดทางอาญา

“เนื่องจากปัจจุบัน พรบ.ความรุนแรงในครอบครัวนั้น บังคับใช้ไม่เต็มที่ รวมถึงคนในสังคมยังมองว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ อย่างเป็นระบบนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ที่อาจต้องใช้กลไกลจากภาครัฐเป็นตัวผลักดัน และบังคับใช้อย่างจริงจัง หรือเพิ่มโทษฝ่ายที่กระทำรุนแรงต่อผู้อื่น เป็นต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกัน เพราะกระทรวงพม.นั้นทำงานเพียงกระทรวงเดียว เรื่องนี้ก็คงไปไม่รอด และก็จะเกิดปัญหาผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย และไม่กล้าบอกคนอื่นเพิ่มมากขึ้น และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น หากเรายังไม่สามารถแก้ไข ปัจจัยดังกล่าวที่บอกมาได้”

ดูแลสุขภาพจิตผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง ช่วยหาทางออกในชีวิตและเดินต่อไปได้ การดูแลสุขภาพจิตของผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า หรือกินยานอนหลับเกินขนาดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือผู้หญิงบางรายก็ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ดังนั้นสิ่งที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลทำในเรื่องนี้ อันดับแรกเราจะให้คำปรึกษากับผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากสามีหรือคนในครอบครัว ซึ่งจะไปในแนวทางที่ว่าผู้หญิงที่ถูกทำรุนแรง ไม่ใช่เพราะฝ่ายหญิงเป็นคนผิด และต้องไม่โทษตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหา ที่มาจากโครงสร้างทางสังคม หรือทัศนะคติชายเป็นใหญ่ที่มีมานานแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หรือหากมีอาการทางรุนแรง ก็จะนำส่งรพ.เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือเมื่อผู้หญิงกลุ่มนี้ ได้รับคำปรึกษาทางด้านจิตใจกระทั่งดีขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปนั้นเราก็จะสอบถามว่า จะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากผู้หญิงนั้นมีสิทธิทางกฎหมาย เช่น ฝ่ายหญิงจะให้ฝ่ายชาย มาหาข้อตกลงร่วมกันหรือไม่ กระทั่งประสงค์ที่จะแจ้งความ หรือเรียกร้องทางสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ กระทั่งต้องการเลิกลา เราก็จะช่วยเหลือ เนื่องจากเรามีทนายอาสาอยู่ เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend