FEATURE

เปิดหลักฐานผู้เสียหายในสหรัฐฯ ถูกหลอกขายถุงมือยางปลอม ‘ลูอิส วิลเลียม ซิสกิน’ จาก ‘ผู้เสียหาย’ กลายเป็น ‘ผู้ต้องหา’ เหยื่อขบวนการขายถุงมือยางปลอมข้ามชาติ

เปิดหลักฐานผู้เสียหายในสหรัฐฯถูกหลอกขายถุงมือยางปลอม “ลูอิส วิลเลียม ซิสกิน” จาก “ผู้เสียหาย” กลายเป็น “ผู้ต้องหา” เหยื่อขบวนการขายถุงมือยางปลอมข้ามชาติ ร้องขอความเป็นธรรมและคาดหวังกระบวนการยุติธรรมไทย จะดำเนินคดีที่ถูกฉ้อโกง และถูกกล่าวหาพยายามฆ่า หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องหลอกขายถุงมือยางปลอม

เปิดโปงขบวนการขายถุงมือปลอมข้ามชาติ EP1

จากคดีดังที่สำนักงาน CNN ตีแผ่ พบผู้เสียหายในสหรัฐอเมริกา ถูกหลอกขายถุงมือยางปลอมหรือถุงมือยางใช้แล้ว นับร้อยล้านชิ้น ไปยังสหรัฐฯ มูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยพบบริษัทที่ขายสินค้ามาจากประเทศไทยและกล่าวอ้างผู้ผลิตในประเทศไทยนั้น

The Reporters ได้พบกับ นายพีร์ เพลินบรรณกิจ ทนายความของนายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน นักธุรกิจชาวสหรัฐฯ หนึ่งในผู้เสียหายที่ปรากฏในข่าวของ CNN ซึ่งพบว่ากรณีของ นายลูอิส มีความน่าสนใจ เพราะนอกจาก นายลูอิส จะเป็น ผู้เสียหาย ในคดีที่ถูกฉ้อโกง ขายถุงมือยางปลอมแล้ว เขายังตกเป็น ผู้ต้องหา จากคดีที่ถูกคู่กรณีที่เขาฟ้องฐานฉ้อโกง ฟ้องนายลูอิส ฐานอั้งยี่ซ่องโจร เรียกค่าไถ่ และพยายามฆ่า

จากการตรวจสอบหลักฐาน และที่มาของเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 คดี

1.คดีที่นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน ในฐานะ บ.ดร็อปอิน เป็นผู้เสียหายยื่นฟ้อง บริษัท คอลเล็คชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ และ บ.แพ็ดดี้ เดอะรูม กับพวก รวม 5 คน ประกอบด้วย นางสาวเอมิลี่ ซู นายเดวิด ลินท์ นายเท็ดเท็น นายวินเซ็นต์ เหวิน และนาย ลุก เฟย หยาง หยาง ในความผิดฐานฉ้อโกง คดีอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ.

2.คดีที่นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน ตกเป็นผู้ต้องหา ในคดีที่นายวินเซ็นต์ เหวิน แจ้งความดำเนินคดีฐาน อั้งยี่ซ่องโจร เรียกค่าไถ่ และ พยายามฆ่า คดีอยู่ที่ สน.ทองหล่อ

ทั้ง 2 คดีเกี่ยวข้องกับอย่างไร และทำไม นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน จึงต้องเปลี่ยนสภาพจาก ผู้เสียหาย เป็น ผู้ต้องหา !!!

เริ่มต้นจากคดีที่ นายลูอิส ตกเป็นผู้เสียหาย คดีฉ้อโกงขายถุงมือยางปลอม

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นประมาณเดือนตุลาคมปี 2563 ในขณะที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างร้ายแรงในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความต้องการถุงมือยางทางการแพทย์จำนวนมาก นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน เป็นหนึ่งในนักธุรกิจ ที่ต้องการนำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์ และได้มีการติดต่อผ่านอีเมล์และวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับ บ.คอลเล็คชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่มี นางเอมีลี่ ซู ชาวไต้หวัน ทำหน้าที่ในการติดต่อเป็นนายหน้า อ้างนำเข้าถุงมือยางที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย โดยมี บ.Paddy the Room ที่มีนายลุก เฟย หยาง หยาง เป็นผู้บริหาร อ้างว่าเป็นผู้แทนจำหน่ายจาก บ.ศรีตรังโกลฟส์ โดยมีคลิปวีดีโอ ยืนยันว่ามีโกดังสินค้า มีเอกสารอ้างเป็นตัวแทนจำแหน่าย

ทำให้นายลูอิส หลงเชื่อ และทำสัญญาซื้อขายถุงมือไนไตร จำนวน 4 แสนกล่อง เป็นเงิน 2 ล้าน 7 แสนเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 94 ล้านบาท และโอนเงินในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 แต่กว่าจะได้รับสินค้าล็อตแรกจำนวน 2,728 กล่อง มาถึงสหรัฐ ในเดือนมกราคม 2564 และพบว่าเป็นถุงมือลาเท็กซ์ ไม่ใช่ไนไตร รวมทั้งยังมีสี และขนาด ไม่ตรงกับกล่องบรรจุภัณฑ์​ ทำให้นายลูอิสได้ทั้งท้วงและปฏิเสธรับสินค้า รวมทั้งให้บริษัท เอสจีเอส ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบสวิ้นค้าได้รับผลว่าเป็นสินค้าปลอม และเป็นถุงมือที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มีการย้อมสีจากสีขาวเป็นสีน้ำเงิน เพื่อให้ดูเหมือนถุงมือไนไตร

“นี่ไม่ใช่ถุงมือไนไตร แต่เป็นถุงมือลาเท็กซ์ ไม่ตรงกับที่เราสั่งซื้อ นี่มันขยะชัดๆ”

นายลูอิส ตกใจอย่างมาก เมื่อเห็นสินค้าที่ถูกส่งมาจากประเทศไทย ไม่ใช่ถุงมือทางการแพทย์ประเภทไนไตร ที่ต้องมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน แต่บางกล่องเป็นสีขาว ที่เป็นถุงมือยางลาเท็กซ์ และที่เป็นสีฟ้า มีการบรรจุหีบห่อที่ไม่ได้มาตรฐาน มีจับกลุ่มกันเป็นมัด มีคราบเลือด และมีการฉีกขาด ซึ่งนายลูอิส ได้ถ่ายคลิปวีดีโอไว้ ตั้งแต่ที่ถุงมือถูกส่งไปถึงที่ท่าเรือลองบีช สหรัฐอเมริกา กลับเป็นถุงมือยางที่ใช้แล้ว หรือเรียกง่ายๆว่า ถูกย้อมแมวขาย

ทันทีที่พบว่าเป็นสินค้าปลอม นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน ได้แจ้งต่อกรมศุลากร และสำนักงานอาหารและหาของสหรัฐฯ​ ให้ตรวจสอบทันที เมื่อต้นเดือน มกราคม 2564 โดยไม่ส่งสินค้าให้กับลูกค้า และถุงมือเหล่านี้ถูกเก็บไว้เป็นของกลาง

และในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บ.ค็อลเลคชั่นฯ ยังได้พยายามส่งมอบสินค้าปลอมให้นายลูอิส อีกครั้งเพื่อยืนยันว่าสินค้าถูกต้อง ในขณะที่ นายลูอิส ได้ให้ บ.เอสจีเอส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบสินค้าทั้งหมด ได้รับรายงานผลตรวจสอบแจ้งว่า เป็นสินค้าปลอมและเป็นถุงมือที่ผ่านการใช้งานมาแล้วทั้งหมด เป็นถุงมือลาเท็กซ์ธรรมดา มีสีและขนาดรวมทั้งจำนวนไม่ตรงกับกล่องบรรจุภัณฑ์ ผ่านการย้อมสีจากสีขาวเป็นสีน้ำเงินเพื่อปลอมแปลงสภาพให้ดูเหมือนเป็นถุงมือไนไตรที่มีราคาสูง

หลังจากนั้นนายลูอิส ได้ทักท้วงและปฏิเสธไม่รับสินค้าทั้งหมด และให้คืนเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน แต่ น.ส.เอมิลี่ ยังยืนยันว่าเป็นสินค้าใหม่ถูกต้องตรงตามสัญญา ผลิตและจำหน่ายโดย บ.ศรีตรังฯ และ บ.คอลเล็คชั่นฯ รับซื้อมาจาก บ.แพดดี้ เดอะรูม ซึ่งอ่างว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายของ บ.ศรีตรังฯ โดยน.ส.เอมีลี่ ต้องการให้นายลูอิส มาพิสูจน์ว่าสินค้าที่ประเทศไทย โดยมอบหมายให้นายวินเซ็นต์ เหวิน ประสานงานกับนายลูอิส นัดหมายมาพบที่คลังสินค้าของ บ.ที่ประเทศไทย

นายลูอิส เดินทางมาไทยในเดือนเมษายน 2564 แต่เมื่อมาถึงนายวินเซนต์ แจ้งว่า บ.คอลเล็คชั่นฯ ถูก บ.แพดดี้ เดอะรูม หลอกขายสินค้าอีกทอดหนึ่ง ทั้งๆ ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าสินค้าเป็นของจริง ซึ่งนายลูอิส ได้ทวงถามให้ นายวินเซ็นต์ เข้าแจ้งความเอาผิด บ.แพดดี้ เดอะรูม แต่นายวินเซ็นต์ บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ทำให้นายลูอิส เชื่อว่า บ.คอลเล็คชั่นฯ กับพวก คือ บ.แพ็ดดี้ฯ เป็นเครือข่ายเดียวกัน และร่วมกันหลอกลวงจนทำให้นายลูอิสได้รับความเสียหายเกือบ 94 ล้านบาท

นอกจากนี้นายลูอิส ยังได้สั่งสินค้าที่ได้มาตรฐานจากบริษัท ศรีตรังโกล์ฟ มาตรวจสอบเปรียบเทียบสินค้าจากโรงงานจริง พบมีคุณภาพ แตกต่างจากสินค้าที่เขาได้รับจากบริษัทที่สั่งซื้ออย่างเห็นได้ชัด และยังให้ทนายความ สอบถามไปยังบริษัท ศรีตรังโกลฟ์ ได้รับการยืนยันว่า ไม่ได้แต่งตั้งบริษัทคอลเล็คชั่น เอนเตอร์ไพรส์ หรือ แพดดี้เดอะรูม เป็นตัวแทนจำหน่าย และทางบริษัทไม่เคยซื้อขายถุงมือยางพารา และพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร และลายมือชื่อของกรรมการ ทำให้มีการฟ้องดำเนินคดีกับ บริษัทแพดดี้เดอะรูม แล้วด้วย

จากคดีฉ้อโกงที่นายลูอิส วิลเลียม ซิสกิน เป็นผู้เสียหาย แต่เมื่อเขาเดินทางมาประเทศไทย กลับต้องถูกดำเนินคดีฐานอั้งยีซ่องโจร ร่วมกันเรียกค่าไถ่ และพยายามฆ่า จากนายวินเซนต์ เหวิน หลังจากพยายามทักท้วงไม่รับสินค้าและขอคืนเงินจากนางเอมิลี่ แต่ถูกปฏิเสธ และยืนยันว่าสินค้าถูกต้อง และมีคำท้าทายจากนายวินเซนต์ ให้มาตรวจสอบที่คลัง สินค้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่นายลูอิส ต้องการความเป็นธรรม จากการดำเนินคดีที่ถูกปฏิบัติเป็นอาชญากร ทั้งๆที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าไม่ได้กระทำความผิด

สำหรับคดีที่นายลูอิส ตกเป็นผู้ต้องหา หลังครบกำหนดฝากขังเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายลูอิส ได้ขอศาลเดินทางกลับสหรัฐฯ ซึ่งศาลอนุญาต และพร้อมกลับมาต่อสู้คดี ไม่ได้หลบหนี เนื่องจากเขายังมีฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีที่ฟ้องฉ้อโกงกับสองบริษัท และ 5 ผู้ต้องหา ที่นายลูอิส เชื่อว่า มีการทำเป็นขบวนการข้ามชาติ ซึ่งในคดีนี้ ทาง บก.ปอศ.อยู่ระหว่างการทำสำนวน รวมทั้งทางอัยการสูงสุด เพราะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร คาดว่าจะมีการพิจารณาสั่งฟ้องในไม่ช้านี้

เหตุที่นายลูอิส เชื่อว่า บ.คอลเล็คชั่นฯ และ บ.แพดดี้ เดอะรูม ร่วมกันวางแผนทำเอกสารปลอม ทำสินค้าปลอม ทำให้นายลูอิส หลงเชื่อในการซื้อสินค้า มีการทำเป็นชบวนการในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และอยากเห็นทางการไทย ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และทางการสหรัฐฯกำลังตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย เนื่องจาก นายลูอิน ได้แจ้งความกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มนี้ ต่อหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) สำนักงานคระกรรมการอาหารและยา (FDA) และสำนักงานศุลากรและป้องกันชายแดน (DHS)

นายพีร์ ทนายความของผู้เสียหาย ยืนยันว่าคดีขายถุงมือยางปลอม ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย กลายเป็นฐานการขายขยะทางการแพทย์ ที่มีมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้าบาท จึงอยากเห็นมีการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ซึ่งคดีนี้ทางการสหรัฐได้มีการตรวจสอบความเกี่ยวข้องของบริษัทต่างๆ ที่เข้าข่ายอาชาญากรรมข้ามชาติเหล่านี้

คดีนี้จึงกลายเป็นมหากาพย์ที่น่าติดตาม ทั้งกรณีขบวนการขายถุงมือยางปลอมข้ามชาติ และคดีที่นายลูอิส ตกเป็นผู้ต้องหา อั้งยี่ซ่องโจร เรียกค่าไถ่ และพยายามฆ่า ที่มีโทษร้ายแรง

ติดตามรายงานพิเศษ :เปิดโปงขบวนการขายถุงมือยางปลอมข้ามชาติ
กับ The Reporters
เรื่อง : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend