ชาวบ้านสบลานช่วยกันดูแลรักษาป่าไว้กว่า 24,500 ไร่ หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “ป่าจิตวิญญาณ” โดยแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย ไร่หมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งมีคำสอนและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเป็นแนวทาง
กว่า 30 ปีที่พะตีตาแยะ ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อเชื่อมต่อกับสังคมใหญ่ในการอธิบายให้เข้าใจถึงวิถีปกาเกอะญอ ที่อยู่ร่วมกับป่าด้วยความเกื้อกูลกัน เนื่องจากความไม่เข้าใจของภาครัฐที่มักทำตัวเป็นเจ้าของป่าและออกนโยบายที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนที่อยู่มาเก่าก่อนกฎหมาย
ตอนปี 2501 ฝรั่งที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ให้ลูกน้องเข้ามาเลือกไม้สักใหญ่และค่อยๆ ทำให้ต้นไม้แห้งตายก่อนตัด ปู่ของพะตีไปเตือนเขาว่าเป็นการผิดผี ทำให้ฝรั่งคนนั้นโกรธและข่มขู่ จนปู่ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งสิ้นสัมปทานถึงได้ย้ายกลับมา
ผู้อาวุโสวัย 73 ปีเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อตอนเป็นเด็กที่ต้องเผชิญหน้ากับคนภายนอกเป็นครั้งแรก
หลังนายทุนฝรั่งไป ทางการก็ให้สัมปทานนายทุนคนไทยต่อ ซึ่งคราวนี้ไม่ได้ตัดเฉพาะไม้สักอีกแล้ว แต่ตัดไม้ใหญ่ทุกประเภทออกจากป่า จนกระทั่งป่าไม้ลดลงมากและเกิดไฟป่าครั้งรุนแรง