EVENT

อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ – สถาบันยานยนต์ จัดสัมมนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ร่วมกับสถาบันยานยนต์ จัดสัมมนา “พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ในออโตโมทีฟ ฟอรั่ม 2023 ซึ่งจัดขึ้นในงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2023 ที่ไบเทค บางนา เพื่อนำเสนอมุมมองต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการ transform จากเครื่องยนต์ระบบสันดาปมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของ ecosystem ในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือการมีเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจต่อไป อีกทั้งผู้ประกอบการควรพิจารณาเรื่องงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น ยกระดับทักษะให้แข็งแรง ทำให้อยู่ในตลาดต่อไปได้อย่างยั่งยืน

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า จากการที่ภาครัฐตั้งเป้าเรื่อง Net Zero ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นพลังงานทางเลือก ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ยังมีปัญหาบางอย่างที่เป็นความกังวลของผู้บริโภค อาทิ ความพอเพียงของจุดชาร์จรถยนต์ที่มีให้บริการในพื้นที่สาธารณะในปัจจุบัน ระยะเวลาการชาร์จที่ค่อนข้างใช้เวลานาน ระยะทางของการขับขี่ที่ปัจจุบันสูงสุดได้เพียง 400 กม.

นายวิชา แสวงศรี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ และความยั่งยืน บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อน ทำให้หลายภาคส่วนมีมาตรการออกมา เช่น นโยบายการสนับสนุนรถ EV ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปได้รับผลกระทบ มาตรการการปรับภาษีจากยุโรป (CBAM) ที่กำหนดการส่งออกสินค้าไปยุโรปจะต้องมีเอกสารรับรอง carbon footprint product และมีการเสียภาษีส่วนต่าง บังคับใช้ในปี 2566 กับ 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และใช้เต็มรูปแบบในปี 2569 นอกจากนี้ กลต. ยังกำหนดให้บริษัทในตลาดฯ ต้องทวนสอบและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กร

นายกิจนา การะเกตุ กรรมการบริหาร พร้อมด้วย Mr. Mark Sutton, VP APAC Engineering บริษัท แอเดียนท์ แอนด์ ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก มีนโยบายลดการใช้พลาสติก ปริมาณขยะ รวมถึงการหาวัสดุอื่นทดแทน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนแล้ว 25% และจะเพิ่มปริมาณการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีก 12% ทั้งนี้ในปี 2022 มีโครงการต่าง ๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม 1,174 โครงการ จาก 728 โครงการในปี 2021 จนถึงปัจจุบัน บริษัทลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้ว 6,092 เมตริกตัน ลดปริมาณการใช้น้ำ 16 ล้านลิตร ลดปริมาณการใช้พลังงาน 25 ล้าน kWh-equivalent ลดปริมาณขยะ ของเสีย 5,363 เมตริกตัน และลดการใช้กระแสไฟฟ้า 42 ล้าน kWh

ดร.พิมมา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาวัสดุที่นำมาประกอบเป็นแบตเตอรี่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายมีปัญหา เวลาผลิตแบตเตอรี่ต้องทำให้ปลดปล่อยพลังงานให้น้อยลง ซึ่งแต่ละประเทศจะปลดปล่อยพลังงานออกมาไม่เท่ากัน ในยุโรปหรือจีน ใช้รถ EV แล้วลดปริมาณก๊าซคาร์บอน ทำให้มีการสนับสนุนการใช้งานรถ EV มาก อย่างไรก็ดี การรีไซเคิลแม้จะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 100%

จากการเสวนายังพบว่า ไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่มีใช้มานานแล้วกว่า 200 ปี ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน มีคุณสมบัติสำคัญคือความสะอาด และลดการเกินคาร์บอนไดออกไซด์ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ไฟฟ้า และขนส่ง คาดว่าจะนำมาทดลองใช้ในภาคขนส่งปีนี้

ทั้งนี้ ไฮโดรเจนจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความต้องการมากกว่าปกติ เช่น รถไฟฟ้าปัจจุบันสามารถวิ่งได้ในระยะทางประมาณ 400 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หากต้องการวิ่งให้ได้ระยะทางไกลกว่านี้ ต้องเพิ่มจำนวนแบตเตอรี่ที่จะมากักเก็บพลังงาน แต่แบตเตอรี่ก็จะเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวรถมากขึ้น หรือระยะเวลาการเติมไฮโดรเจนที่ใช้น้อยกว่าการชาร์จประจุไฟฟ้า แม้จะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ไฮโดรเจน แต่การใช้รถล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น อีกหนึ่งความกังวลในการใช้รถพลังงานไฮโดรเจนคือจุดเติมไฮโดรเจนที่ยังมีไม่มากเท่าจุดชาร์จรถไฟฟ้า และไม่สามารถทำจุดเติมไว้ที่บ้านได้

Related Posts

Send this to a friend