INVESTMENT

CEA จัดงานเสวนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดันธุรกิจอนาคตอุตสาหกรรมไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ลงนามบันทึกความร่วมมือ Creative Business Transformation กับภาคีเครือข่ายพันธมิตร 15 หน่วยงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านงานเสวนา “Creative Economy Foresight & Transformation : อนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานใน 4 มิติหลัก ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจสร้างสรรค์ การขยายองค์ความรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแนวทางการลงทุนทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวในหัวข้อ “Creative Economy Foresight & Transformation” ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกอยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจาก 10 ปี 2 เท่า สำหรับประเทศไทยอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 6.8% ของ GDP มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม ในสภาวะปกติอยู่ที่ 5.7% มีการจ้างงานประมาณ 9 แสนคน และจากการร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง CEA กับอีก 15 หน่วยงาน ตั้งเป้าว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะเติบโตขึ้นเพิ่มอีก 5% นอกเหนือจากการส่งเสริมสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก ได้แก่

  1. Creative Originals (กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์)
  2. Creative Content and Media (กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์)
  3. Creative Services (กลุ่มบริการสร้างสรรค์)
  4. Creative Product (กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์)
  5. Related Industries (กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับทิศทางของภาพอนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประกอบไปด้วย 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. Cultural value added การนําเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม เน้นให้เกิดตลาดใหม่เฉพาะกลุ่ม
  2. Sustainability Rebalanced การนําแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการประกอบธุรกิจแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในการบริโภคและการผลิตมากขึ้น
  3. Technological Blending for Every Scale การผสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิตที่จะพลิกโฉมขอบเขตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
  4. Prosperity Downturn ที่อาจจะมีการ Collapse ในบางอุตสาหกรรมเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ซึ่งจากภาพอนาคตดังกล่าวทำให้เกิดการวางแนวทางการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับ 15 เครือข่ายพันธมิตรในความร่วมมือ Creative Business Transformation

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงความสำคัญในการขยายเครือข่าย พัฒนา และเสริมความรู้ด้านการจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ที่ให้แก่กลุ่มธุรกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ OTOP ว่า ต้องนำภูมิปัญญาแต่ละชุมชนมาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสร้างรายได้ ต่อยอดทั้งด้านผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย กลุ่มลูกค้า ฯลฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าและขยายตัวของอุตสาหกรรม

นายชาญ กุลภัทรนิรันดร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่อย่าง AI, Robotics หรือ Digitalization สามารถยกระดับสร้างสรรค์ผลงานด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ผ่านแพลตฟอร์ม หรือคอมมูนิตี้ได้

ชลัช รัตนบุญนิธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่า แนวทางความร่วมมือในการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสำหรับผู้ประกอบการนั้นมี 2 ปัจจัยหลักที่ควรพัฒนาและลงทุน ได้แก่

  1. Infrastructure การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านโลจิสติกส์
  2. Working Capital เงินทุนหมุนเวียน ที่เป็นเงินทุนสำรองระยะสั้นสำหรับธุรกิจ
    ทั้งนี้ EXIM Bank พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการทุก ๆ ด้าน โดยผู้ประกอบการสามารถนำผลงานของธุรกิจมาสร้างวงเงินในลักษณะของ Working Capital เพื่อเติมโอกาสและเติมเงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งคอนเทนต์ สื่อสร้างสรรค์ รวมทั้งสินค้าและบริการ

ดร.ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เน็ตฟลิกซ์จัดฝึกอบรมบุคลกรต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มครีเอเตอร์ หรือ Post Production โดย Post Production Workshop นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนโยบาย Soft Power จัดทำ Uncover Thailand : A Creative Travel Guide นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และวัฒนธรรม ผ่านการตามรอยภาพยนตร์และซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์ที่ถ่ายทำในไทย

จากงานเสวนาครั้งนี้ อนาคตด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยล้วนต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทุกมิติล้วนมีผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่หัวใจสำคัญคือการผลักดันเพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสร้างผลงาน ผลิตภัณฑ์ บุคลากร เพื่อให้ก้าวสู่ตลาดโลก

Related Posts

Send this to a friend