ENVIRONMENT

ศาลปกครองสูงสุด ‘ยกฟ้อง’ คดีตัดต้นไม้ขยายถนนธนะรัชต์

ศาลปกครองสูงสุด ‘ยกฟ้อง’ คดีตัดต้นไม้ขยายถนนธนะรัชต์ ชี้ ทางหลวง-คมนาคม ดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (26 เม.ย. 65) ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน รวม 130 คน ยื่นฟ้องกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการขยายหรือปรับปรุงถนนธนะรัชต์ หรือถนนสาย 2090 ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 2 ต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทาง 8.1 กิโลเมตรและให้ฟื้นฟูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดแนวถนน ให้กลับมามีสภาพคล้ายเดิมมากที่สุด

ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลว่า กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขุดล้อมบอนต้นไม้ ตามข้อเสนอแนะของกรมป่าไม้ โดยมีคณะผู้ตรวจสอบที่เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับป่าไม้ มีการให้ความเห็นตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปรากฏเหตุว่ามีส่วนได้เสีย ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบจึงมีความน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ไม่สามารถขุดล้อมบอนต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทได้ ทั้งกรมป่าไม้ก็ไม่ได้โต้แย้งผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ

ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีอำนาจ ได้พิจารณาออกใบอนุญาตให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ทำการตัดไม้ เมื่อตัดไม้แล้วได้ลากไปรวมไว้บริเวณ กม. 16+300.000 ทางหลวงหมายเลข 2090 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจวัดประทับตรา คำนวณค่าภาคหลวง ก่อนจะทำไม้ออก ทั้งต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ทางหลวง 2535 พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในเขตทางโครงการพิพาทเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

นอกจากนี้ หลังขยายเขตทาง กรมทางหลวงโดยแขวงการทางนครราชสีมาที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2553 ถึงหัวหน้าศูนย์เพาะชํากล้าไม้นครราชสีมา ขออนุเคราะห์กล้าไม้ 2,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกเสริมบริเวณที่ว่างในเขตทางหลวง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน นับเป็นจำนวนหลายพันต้น โดยกรมทางหลวงได้เลือกปลูกต้นไม้หวงห้ามหลายประเภทที่ถูกตัดฟัน อาทิ สะเดา 42 ต้น , ประดู่แดง 92 ต้น , หว้า 60 ต้น , อินทนิล 334 ต้น

โดยในการพิจารณาเลือกชนิดประเภทของต้นไม้ที่นำมาปลูกทดแทน กรมทางหลวงได้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เลือกใช้ต้นไม้ที่เป็นกล้าไม้บางส่วน เพื่อให้ต้นไม้กลุ่มนี้มีระบบรากแข็งแรง ทนต่อลม และใช้ต้นไม้ที่ขุดล้อมบอนมาจำนวนน้อยเพราะต้นไม้กลุ่มนี้ระบบรากไม่แข็งแรง ทำให้ไม่ทนต่อลม แต่ปลูกเพื่อให้ร่มเงาในระหว่างที่กล้าไม้ยังไม่เจริญเติบโต ซึ่งขนาดของต้นไม้ที่กรมทางหลวงได้นำมาปลูกทดแทน มีขนาดกำลังเหมาะสม มีความสูงระหว่าง 1.50 – 2 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว เพื่อให้ต้นไม้ที่ได้รับการปลูกตั้งแต่เล็ก จะมีระบบรากที่เติบโตเต็มที่ทำให้เกิดความมั่นคงกว่าในระยะยาว

โดยปรากฏภาพถ่ายในชั้นอุทธรณ์คำพิพากษา ว่า ปัจจุบันสภาพของเขตทางทั้งสองด้านมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ทั้งการขุดล้อมต้นไม้เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ไม้เหล่านั้นจะไม่มีรากแก้ว ไม่มีความมั่นคง ล้มง่าย เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทาง และอาจเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งนั้นได้

เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ได้เสียทุกด้านประกอบกัน จึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการฟื้นฟูต้นไม้ในเขตทางเพียงพอแก่พฤติการณ์ความเสียหายจากการดำเนินโครงการพิพาทแล้ว ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันนำต้นไม้ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน และในจำนวนเท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นไปแล้ว ตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ไปปลูกทดแทนตามแนวเขตทางหลวง 2090 ช่วง กม. 2+000.000 ถึง กม.10+100.000 โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย

Related Posts

Send this to a friend