ENVIRONMENT

ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผสานความร่วมมือ ร่วมเดินหน้าสู่การอนุรักษ์ป่าภูมิภาคอย่างยั่งยืน

UN-REDD โครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยถึงการร่วมมือกันของประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน เนื่องจากในอดีตการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปยังประเทศจีนส่งผลต่อการลักลอบตัดไม้ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก แต่ผลจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ปัจจุบันภูมิภาคดังกล่าวกำลังก้าวสู่ยุคของการค้าป่าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและยั่งยืน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศของป่าไม้ การป้องกันสัตว์ป่าจากการรุกราน และการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

อะกิโกะ อิโนะกูจิ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลดีต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการค้าไม้ในภูมิภาคนี้ เกิดการปรับเปลี่ยนการค้าไม้และการอนุรักษ์ป่าไม้ในภูมิภาค แต่ขณะเดียวกัน ยังมีความท้าทายในเรื่องของการยกระดับการติดตามตรวจสอบอุตสาหกรรมการค้าป่าไม้ และการทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยที่ประกอบธุรกิจขายผลิตภัณฑ์และเส้นใยที่ได้จากป่าไม้ในภูมิภาค

แคทรีนา บอร์โรมิโอ เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า ความท้าท้ายสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวคือ การไม่รับรู้ถึงความรุนแรงของอาชญากรรมป่าไม้ และความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับป่าไม้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ (UN Decade of Ecosystem Restoration) จึงได้ดำเนินการขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงส่งเสริมให้บุคคลากรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันระบบนิเวศ เพิ่มประสิทธิภาพและความเข้มงวดกับการดำเนินนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีการตรวจสอบป่าไม้และพื้นดินขั้นสูงมาใช้เฝ้าระวังและตรวจสอบพื้นที่ป่า

ทั้งนี้การลักลอบตัดไม้มักเกิดขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดน จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามตรวจสอบ แก้ไขปัญหา และจับกุมผู้กระทำผิด ตัวอย่างของการร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย และความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว

“ความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาได้พิสูจน์ว่า มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการค้าไม้ผิดกฎหมาย รวมถึงการตรวจสอบสถานการณ์ป่าไม้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไม้ที่มีมูลค่าสูงเช่นไม้พะยูง” ดานี่ เชียง รองผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้กัมพูชา กล่าว

อ้อมจิตร เสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า การติดตามตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่า และการอาชญากรรมป่าไม้บริเวณแนวตะเข็บชายแดน

การอนุรักษ์ป่าไม้และการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและครอบคลุม ในการดูแลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การบริหารจัดการป่าไม้ การขนส่ง การออกใบอนุญาตรับรอง การตลาด ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นด่านหน้าในการประยุกต์การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าป่าไม้อย่างยั่งยืนในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend