ENVIRONMENT

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา ปภ. เครือข่าย ค.อ.ก. ’คิกออฟ‘ ระบบเตือนภัยน้ำท่วม

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่าย ค.อ.ก. ’คิกออฟ‘ ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

วันนี้ (22 เม.ย. 68) ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก (ค.อ.ก) จัดเวทีความร่วมมือเตือนภัยน้ำกกหลากท่วมปี 2568 โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ. เป็นประธาน โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานในพื้นที่แม่น้ำกก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปภ.จังหวัดเชียงราย อุทกวิทยาเชียงราย นักวิจัย ผู้นำชุมท้องที่ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน

นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส พชภ. กล่าวว่า ชุมชนได้ร่วมกันวางระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำในฤดูฝน โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ซึ่งมี 7 ชุมชนเป้าหมาย ประกอบด้วย บ้านแก่งทรายมูล บ้านร่มไทย บ้านใหม่หมอกจ๋าม บ้านผาใต้ ต.ท่าตอน อ.แม่อาจ จ.เชียงใหม่ บ้านจะคือ ต.ห้วยชมพู โรงเรียนบ้านผาขวางบ้านแคววัวดำ ต.แม่ยาว บ้านโป่งนาคำ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ และเอกชน เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำกกแก่เครือข่ายและสาธารณะ

นายทาเคโอะ โตโยต้า อาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเชียงราย กล่าวว่า จากการลงเก็บข้อมูลกว่า 20 ชุมชนริมแม่น้ำกกตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง บ้านโป่งนาคำ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ระยะทาง 28 กม. พบว่าเดิมทีชาวบ้านไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วมสูง แม้มีการแจ้งเตือนจากคนทางต้นน้ำ และที่สำคัญไม่รู้ว่าจะมาเป็นปริมาณเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ทางเครือข่ายฯ จึงได้ดำเนินการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำ มาตรวัดระดับน้ำ และสอนการใช้มือถือบันทึกภาพเข้าระบบให้สื่อสารด้วยภาพเข้าใจง่าย

“หากสื่อสารเตือนภัยได้จากต้นน้ำถึงพื้นที่ชุมชน เราจะมีเวลาเตรียมตัวได้ประมาณ 8 ชั่วโมง การตั้งเสาวัดระดับน้ำคาดว่าจะเสร็จในเดือนนี้ ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักอุทกวิทยา โดยติดตั้งในที่ชุมชนสามารถเข้าถึงโดยง่าย คาดว่าอีก 2-3 เดือนน่าจะเสร็จ โดยพยายามใช้เครือข่าวชุมชนทำที่จะสามารถทำได้เร็วกว่าการดำเนินการจากคำสั่งรัฐบาลที่ต้องมีขั้นตอน และถือเป็นการคิกออฟระบบเตือนภัยที่ภาคีเครือข่ายร่วมกันทำ” นายโตโยต้ากล่าว

นายอธิพัชร์ โฉมแดง ผู้อำนวยการส่วนอุกทกวิทยาที่ 2 เชียงราย กล่าวว่า ได้รับการประสานให้ทำพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำกกในพื้นที่ 7 ชุมชน ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และได้ทำสถานีมาตรวัดระดับน้ำที่จะรายงานทุก 15 นาทีในทุกวัน น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้สถานีเสียหายและอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงโดยมีการติดตั้งเพิ่มอีก 1 แห่งคือ สะพานบ้านใหม่ ใกล้กับ สภ.เมืองเชียงราย

ขณะที่พระอาจารย์มหามหานิคม มหาภิกขมฺโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในลำน้ำกกตลอดทั้งสายมีเขื่อนเพียงแห่งเดียวคือฝายเชียงราย ส่วนในเมียนมาไม่มีเขื่อน ต้นน้ำกกอยู่ที่บ้านกกหรือเมืองกก ตอนใต้ของรัฐฉาน ถัดมาคือเมืองสาด และเมืองยอน ที่อยู่ติด ต.ท่าตอน ของไทย การทำเหมืองแร่ เมืองยอน เมืองสาด ที่มีเหมืองทองคำมาก การทำลายป่า ทำลายหน้าดิน เจาะแร่ออกมา การทำเหมืองทองคำต้องใช้น้ำมาก ทำให้น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาเป็นน้ำโคลนที่ไหลเชี่ยวเพราะป่าถูกทำลาย เปิดหน้าดิน ต่างจากอดีตที่น้ำจะใสและค่อย ๆ เอ่อท่วม สามารถขนของหนีได้ทัน ไม่เสียหายมากเหมือนการท่วมของปีที่แล้ว

“ชุมชนและเครือข่ายแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่เป็นเตรียมตัวเตือนภัยเพื่อการตั้งรับและบรรเทาความเสียหาย แต่รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การทำเหมืองทองต้องหยุด ถ้าไม่หยุดก็ต้องทำให้ดีและไม่สร้างปัญหา สิ่งที่ต้องช่วยกันทำคือกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐไปเจรจา ปัญหานี้เป็นปัญหาระยะยาว มีหลายปัญหาร่วมกัน เป็นความมั่นคงของชีวิต ต้องมีทุกฝ่ายร่วมกัน ทั้งฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล สื่อมวลชน ชาวบ้าน ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าระดับประเทศแก้ไม่ได้ก็ต้องเป็นระดับอาเซียน ภูมิภาค หรือระดับนานาชาติร่วมกันแก้ไข” พระอาจารย์มหานิคมฯ กล่าว

นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้า ปภ.จ.เชียงราย กล่าวว่า การทำงานของภาคราชการในการแก้ไขแต่ละอย่างต้องใช้งบประมาณ และมีขั้นตอน เห็นว่าการร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนริมน้ำกก การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนของ 7 ชุมชน ที่มี 7 สถานี จะสามารถช่วยลดความสูญเสีย และเสียหายได้

“ขณะนี้งบประมาณในการขุดลอกลำน้ำกกยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณ ไม่แน่ใจว่าจะทำทันไหมก่อนฤดูฝนในปีนี้ ดังนั้นหากรอหน่วยงานราชการอย่างเดียว ไม่มีทางทัน กว่าจะคิดคำนวณปริมาณน้ำก็ใช้เวลา การรายงานด้วยสายตาจากภาพถ่ายปัจจุบันของชาวบ้านจะเร็ว” หัวหน้า ปภ. เชียงราย กล่าว

นายครรชิต กล่าวว่า ในปี 2567 น้ำท่วมเชียงราย 4 รอบ ในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะน้ำกกและน้ำสาย แต่พื้นที่ลุ่มน้ำอิง น้ำงาว น้ำหงาว ด้วย เพราะฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนสะสมมาก ดินอิ่มน้ำ และมีพายุยางิเข้ามาหลังจากนั้นทำให้น้ำท่วมหนักในเขตเมืองเชียงราย ในส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำกก น้ำผ่านฝายเชียงรายประมาณ 1,200 – 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่น้ำมาเกือบ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่เหลือไหลบ่าสองฝั่งลำน้ำ

ด้าน ผศ. อังกูร ว่องตระกูล ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ทางทีมได้รับทุนวิจัยระยะเวลาการจัดทำโครงการ 2 ปี ทำระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม (Flood Map)ในเขตเมืองเชียงราย เริ่มศึกษามาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาโดยได้เริ่มเก็บข้อมูล ทั้งได้ประสานกับท้องถิ่น ต.แม่ยาว และทีมของเครือข่าย ค.อ.ก. และ สทนช. ที่ได้เก็บบันทึกน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา และร่วมมือกับ อุทกวิทยาในการรายงานระดับน้ำและการเตือนภัยผ่านแอพพลิเคชั่น ที่คาดว่าภายในปีหน้าจะสามารถแจ้งเตือนภัยได้ ในที่ประชุมผู้ร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนและเสนอความเห็นว่าน่าจะมีการทำตลอดลำน้ำตั้งแต่บ้านท่าตอนถึงบ้านสบกก เพื่อให้เห็นภาพรวม รวมถึงสถานการณ์แม่น้ำกกตอนบนในเมียนมาจากสื่อโซเชียลของเมียนมาที่มีการรายงานต่อเนื่องและประสานข้อมูลกัน ซึ่งแม่น้ำกกในเมียนมายาวกว่า 300 กม. ใกล้เคียงกับที่อยู่ในไทย ที่จะทำให้สามารถตั้งรับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

“การตั้งข้อสังเกตการรายงานการเตือนภัยในการอ่านค่าระดับน้ำที่ต้องฝึกและวางแผนการรายงาน รวมถึงการรายงานในเวลากลางคืนเมื่อมีเหตุเสี่ยงต้องมีส่วนร่วมจากหลายระดับในการทำงาน ทั้งการร่วมให้ข้อมูล การร่วมตัดสินใจ และการให้คำแนะนำ การเรียนรู้เพื่อส่งต่อข้อมูล” นายอังกูร กล่าว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat