เปิดภาพ ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ กลางแม่น้ำโขง ที่จะผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย 35 ปี ก่อสร้างไปแล้วกว่า 30%
วันที่ 20 พ.ย.67 สำนักข่าว The Reporters เปิดเผยภาพการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำจากแม่น้ำโขง ของ สปป.ลาว ที่ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยโง เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง ที่ก่อสร้างไปได้แล้วกว่า 30 % ซึ่งเขื่อนหลวงพระบาง ได้เซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 พ.ย.65 เป็นเวลา 35 ปี โดยการก่อสร้างเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 คาดว่าแล้วเสร็จและเริ่มขายไฟฟ้าได้ในปี 2573
สำหรับหัวงานเขื่อนหลวงพระบาง มีการก่อสร้างในฝั่งขวาของแม่น้ำโขง จากการล่องเรือในแม่น้ำโขงขาเข้าเมืองหลวงพระบาง กำลังมีการก่อสร้างสันเขื่อน ประตูน้ำ และช่องทางน้ำผ่าน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องสร้างให้เสร็จ ก่อนจะสร้างโรงผลิตไฟฟ้าที่อยู่ทางฝั่งซ้าย ขณะเรือโดยสารที่แล่นผ่านจุดนี้จึงเห็นการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว หลังจากเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ทางตอนใต้ของเขื่อนหลวงพระบาง 130 กิโลเมตร
โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือ ล่วงหน้า (PNPCA) ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่ รัฐบาลลาวได้แจ้งต่อสํานักงานเลขาธิการแม่น้ําโขง เมื่อปี 2562 เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น (Run off River) สร้างกั้นแม่น้ำโขง จุดที่เห็นก่อสร้างอยู่นั้น เป็นตัวเขื่อนเป็นคอนกรีตแบบถ่วงน้ำหนัก (Concrete Gravity Dam) ยาว 861 เมตร ไม่มีการกักเก็บน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ ระดับกักเก็บ กักเก็บน้ําสูงสุด 312 ม.รทก ปริมาณน้ําในอ่าง 1,256 ล้านลบ.ม ระยะทางของภาวะน้ําเท้อ (Back water affected) 156 กิโลเมตร ต่อเนื่องไปจนถึงจุดก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงในแขวงอุดมไซ ที่ห่างออกไป 170 กิโลเมตร
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers เปิดเผยว่า เขื่อนหลวงพระบาง ที่ก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 % จะมีการปิดลำน้ำโขงเร็วๆนี้ ทำให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงยากขึ้น และกระทบเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ซึ่งทางยูเนสโกให้ศึกษาผลกระทบ จึงหวังว่าทางผู้พัฒนาโครงการจะนำข้อทักท้วงจากนักวิชาการและชาวบ้านมาทบทวนการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง
“แม้การก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางจะเสร็จไปแล้ว แต่ต้องมาคิดทบทวนด้วยว่า เขื่อนหลวงพระบาง รวมถึงเขื่อนปากแบง ที่กำลังจะก่อสร้าง ไม่ส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการแม่น้ำโขง และน่าจะทบทวนให้แม่น้ำโขงทำหน้าที่อย่างอื่น ไม่ใช่เพียงถูกกั้น ไม่ใช่แค่ผลิตไฟฟ้า พลังงานน้ำที่ไม่ได้สะอาด และไม่ได้ทำให้ค่าไฟถูกลง หากพิจารณาต้นทุนทั้งหมดแล้ว” น.ส.เพียรพร กล่าว
จุดที่กำลังก่อสร้างเป็นส่วนประตูน้ำ และช่องทางน้ำที่จะเปลี่ยนจากทางซ้ายที่เรือวิ่งอยู่นี้ ไปอยู่ทางฝั่งขวาแทน ซึ่งเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเดินเรือล่องแม่น้ำโขงของเรือโดยสาร และ เรือท่องเที่ยว ที่เป็นเส้นทางจากหลวงพระบางไปยังอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทยด้วย
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ Thai-Water Partnership กล่าวว่า ที่เห็นการก่อสร้าง จะเห็นโขดหินไม่ให้น้ำผ่านในจุดก่อสร้างครึ่งหนึ่งของลำน้ำ เพื่อจะได้ก่อสร้างส่วนประตูน้ำและช่องทางน้ำทางฝั่งขวา เมื่อเสร็จก็จะเชื่อมโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่ฝั่งซ้าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี เนื่องจากจะต้องมีการปิดทางน้ำ และเปลี่ยนเส้นทางน้ำมาที่ฝั่งซ้าย จากการก่อสร้างจะเป็นส่วนประตูน้ำ ช่องทางน้ำ 30 % ส่วนอีก 60 % เป็นโรงไฟฟ้า โดยเครื่องกำเนิดกระแสไฟจะอยู่กลางลำน้ำโขง ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนแปลงแน่นอน
“เท่าที่ดูรูปแบบการก่อสร้างตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรี จะคล้ายกัน โดยสร้างประตูน้ำให้เสร็จก่อน แล้วเปลี่ยนทางน้ำไปเข้าประตูที่สร้างเสร็จ แล้วย้ายมาสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้เส้นทางเดินเรือย้ายไปฝั่งประตูน้ำ และเส้นทางน้ำก็จะเปลี่ยนแปลงไปแน่อนอน” นายหาญณรงค์ กล่าว
สำหรับเขื่อนหลวงพระบาง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลก ประมาณ 25 กม. ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน และผู้พัฒนาโครงการระบุว่าไม่กระทบกับมรดกโลก แต่ในทางการท่องเที่ยว คุณค่าของเมืองหลวงพระบาง ที่ตั้งอยู่แม่น้ำโขง นอกจากการท่องเที่ยวโบราณสถาน สถาปัตยกรรมในฐานะเมืองมรดกโลกแล้ว การล่องเรือแม่น้ำโขง ระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขง ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนหลวงพระบาง