ENVIRONMENT

พัฒนาระบบพยากรณ์ PM2.5 เพื่อวางแผน และแจ้งเตือนประชาชน

คพ. จับมือกรมอุตุฯ – ก.ดีอีเอส พัฒนาระบบพยากรณ์ PM2.5 ด้านกรีนพีซฯ เรียกร้องปรับมาตรฐาน PM 2.5 ตามคำแนะนำของ WHO

( 19 พ.ย. 64 ) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ เครื่องมือตรวจวัดระบบประมวลผล และพัฒนาการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการและการแจ้งเตือนประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า คพ.ได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศ สำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้สามารถการคาดการณ์สถานการณ์ปัญหา PM 2.5 ของประเทศได้อย่างแม่นยำ ช่วยในการวางแผนบริหารจัดการเพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จนสถานการณ์ PM2.5 มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ

ด้านกรีนพีซประเทศไทย ชวนคนไทยจับตาสถานการณ์ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นของ PM2.5 เกิดจากกระบวนการสันดาปของเครื่องยนต์ โดยระบุว่า ผ่านไปเกือบสิบปีแล้ว รัฐบาลยังไม่ปรับ “มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ” ของประเทศไทย ให้ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานแนะนำของ WHO จนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา WHO ได้ปรับค่าแนะนำเพิ่มเติม ภาครัฐก็ยังคงเพิกเฉย

กรีนพีซฯ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งรถยนต์ การจะแก้วิกฤตมลพิษทางอากาศ รัฐบาลต้องกล้าหาญมากกว่านี้ โดยต้องรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

Related Posts

Send this to a friend