ENVIRONMENT

วิกฤติโลกร้อน ทำอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นทุกปี ชี้ อีก 3 เดือน ไทยเผชิญฝนมากกว่าปกติ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “น้ำจะท่วมกรุงเทพ…กี่โมง?” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการตามรอยพระราชา โดยยกข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ยืนยันว่าปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกข้อมูล โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.45 องศาเซลเซียส และแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2024 เมื่อเทียบอุณหภูมิแบบวันต่อวันกับปี 2023 จะพบว่าปี 2024 อุณหภูมิแต่ละวันสูงขึ้นทุกวันเมื่อเทียบกับอุณหภูมิในปี 2023

นายวีระศักดิ์ ยังยกตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปัญหาปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในปี 2553 เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พร้อมเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือ และช่วยกันรักษาระบบนิเวศทางทะเล

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ความท้าทายไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย แต่เป็นวิกฤตระดับโลก การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่เร็วขึ้นส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม และบางประเทศเริ่มรับมือกับสถานการณ์นี้แล้วเช่นกัน สำหรับประเทศไทย พื้นที่ภาคกลางบางส่วนอาจจมหายไปใต้น้ำภายในเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน พร้อมกับเตือนว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเผชิญกับปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ลานีญาส่งผลกระทบต่อไทยรุนแรงขึ้น

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่อาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

ศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัญหาโลกร้อนล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า หรือการปล่อยมลพิษที่มีสารเคมี และสารก่อมะเร็ง ซึ่งวิกฤตโลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องเผชิญและหาทางรับมือร่วมกัน ถึงเวลาที่ทุกคนต้องหันมาใส่ใจ และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

Related Posts

Send this to a friend