ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ จี้รัฐบาลชี้ชัดแหล่งสารพิษแม่น้ำกก-สาย หวั่นกระทบวงกว้าง

วันนี้ (12 พ.ค. 68) นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างจริงจังและประกาศแหล่งที่มาของสารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก อย่างชัดเจน โดยระบุว่าปัญหามลพิษข้ามแดนดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการทำเหมืองในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และจำเป็นต้องมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศโดยเร่งด่วน
นางเพ็ญโฉม ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันภาครัฐเริ่มมีท่าทียอมรับมากขึ้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความขุ่นข้นและการปนเปื้อนสารพิษในแม่น้ำกับกิจกรรมเหมืองในประเทศเมียนมา จึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งควรประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเริ่มพบความผิดปกติในปลา และประชาชนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากสารพิษในน้ำ ซึ่งภาครัฐควรรับฟังและไม่ควรปฏิเสธความเป็นไปได้
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ แสดงความกังวลต่อผลการตรวจวัดการปนเปื้อนในแม่น้ำทั้งสองสายและลำน้ำสาขา โดยเห็นว่าภาครัฐยังขาดความตระหนักและการมองความเชื่อมโยงถึงสาเหตุและผลกระทบระยะยาว การตรวจพบสารโลหะหนักเป็นตัวบ่งชี้ความเสื่อมโทรมของแม่น้ำ แต่รายงานผลการตรวจวัดกลับไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการปนเปื้อน นางเพ็ญโฉมจึงต้องการให้ภาครัฐระบุให้ชัดเจนว่าการปนเปื้อนมาจากเหมืองทองหรือไม่ เพื่อให้การตรวจวัดมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยหากตั้งประเด็นว่ามาจากเหมืองทอง ควรเน้นการตรวจวัดสารโลหะหนักและสารเคมีอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองทอง
นางเพ็ญโฉม ชี้ว่าการตรวจวัดที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการดำเนินการเฉพาะกิจ เฉพาะครั้ง และในพื้นที่จำกัด ยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังจากภาครัฐ ทั้งที่ควรมีนโยบายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและรัฐบาลในการเฝ้าระวังพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำกกซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญที่ใช้น้ำจากแม่น้ำสายดังกล่าว เมื่อมีข้อมูลว่าพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย จึงมีความจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบว่ามีการสะสมของสารโลหะหนักในพื้นที่เกษตรหรือไม่ ก่อนที่สารพิษจะสะสมและหลุดเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง
สำหรับแนวทางการตรวจสอบ นางเพ็ญโฉมแนะว่า จุดเก็บตัวอย่างน้ำและดินต้องระบุลักษณะพื้นที่โดยรอบ เช่น เป็นพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่ประมง หากเป็นพื้นที่เกษตร ต้องระบุจำนวนไร่ที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำนั้นๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ควรมีการวางแผนการสุ่มตรวจตัวอย่างดิน น้ำ และพืชผลการเกษตรอย่างครอบคลุม
เมื่อถูกถามถึงข้อกังวลของภาครัฐที่อาจเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือสร้างความตื่นตระหนกจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาด้านงบประมาณ นางเพ็ญโฉมเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ต้องนำมาชั่งน้ำหนักกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน หากตรวจพบว่าดินและผลผลิตปนเปื้อนสารหนูและโลหะหนักอื่นเกินค่ามาตรฐานอาหารปลอดภัย รัฐบาลกลางและท้องถิ่นต้องวางแผนหามาตรการเยียวยาเกษตรกร ซึ่งอาจรวมถึงการทำลายผลผลิตที่ปนเปื้อนทิ้ง และชดเชยความเสียหายเนื่องจากเกษตรกรไม่ใช่ผู้ก่อปัญหา แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามแดนที่รัฐต้องเข้ามาดูแล การละเลยปัญหาดังกล่าวถือเป็นการละเลยความรับผิดชอบต่อชีวิตประชาชน
นางเพ็ญโฉมยังกล่าวถึงกรณีที่หลายคนอาจคิดว่าสารโลหะหนักจากต้นน้ำจะเจือจางลงเมื่อแม่น้ำกกไหลผ่านประเทศไทยเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรว่า แม้สารบางตัวอาจเจือจางได้ แต่โลหะหนักมักมากับตะกอนดินโคลน ซึ่งเป็นอันตรายมากกว่า โดยอ้างถึงเหตุการณ์ “สึนามิโคลน” เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ยังไม่ทราบผลการตรวจสอบตะกอนเหล่านั้น หากพบการปนเปื้อนก็ถือเป็นพื้นที่อันตรายที่ไม่ควรปล่อยให้ตะกอนกระจายตัว เพราะโลหะหนักจะสะสมในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านผลผลิตทางการเกษตรได้ นอกจากนี้ ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหากเกิดน้ำหลากท่วม จึงจำเป็นต้องยับยั้งปัญหาที่ต้นทาง และควรมีนักวิจัยเข้ามาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะการดำเนินการในปัจจุบันยังล่าช้ามาก
เกี่ยวกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ นางเพ็ญโฉมวิจารณ์ว่ารัฐบาลไทยทุกยุคสมัยมักไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และพยายามทำให้ปัญหาดูเล็กลง กฎหมายลงโทษผู้ก่อมลพิษยังมีบทลงโทษที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนแนวคิดการทำฝายดักตะกอนนั้น นางเพ็ญโฉมเห็นว่าต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการจัดการตะกอนปริมาณมหาศาลที่จะดักได้ ซึ่งอาจกลายเป็นของเสียอันตราย และความถี่ในการขุดลอก โดยยกตัวอย่างปัญหาการจัดการตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วที่คลิตี้ ซึ่งการฝังกลบที่ไม่ได้มาตรฐานกลับสร้างปัญหาการแพร่กระจายซ้ำ และเมื่อเทียบกับขนาดของเหมืองทองในเมียนมาซึ่งใหญ่กว่ามาก รัฐบาลไทยจึงไม่สามารถปล่อยปละละเลยปัญหานี้ได้ และต้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง มิฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวอาจกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #มลพิษข้ามแดน #แม่น้ำกก #แม่น้ำสาย #สิ่งแวดล้อม