ENVIRONMENT

ครบ 240 วันสำรวจถือครองที่ดินในป่าอนุรักษ์-ชาวบ้านโวยตกหล่นอื้อ นักกฎหมายแนะออก พรก.ขยายเวลา

21 กรกฎาคม 63 เป็นวันใกล้ ครบกำหนด 240 วัน ของการสำรวจการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 มาตรา 121 ซึ่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติโดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ

นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวินกล่าวว่ายังมีที่ดินของประชาชนตกหล่นและไม่ได้สำรวจอีกจำนวนมากเพราะการปฎิบัติงานในพื้นที่ลัดขั้นตอน โดยไม่มีการจัดประชาคมระดับชุมชนและเจ้าหน้าที่มักบอกว่าเรียบร้อยหมดแล้ว ทำให้ในพื้นที่ตกหล่นมาก เช่น บ้านแม่กร๋อน มีตกหล่น 5 หย่อม หลายหมู่บ้านแม้เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่สำรวจ แต่บางแปลงที่เป็นไร่หมุนเวียน เขาไม่ยอมให้โดยอ้างพื้นที่ต้นน้ำซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้พื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนคงถูกห้ามกันหมดเพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน อย่างไรก็ตามตอนนี้ชาวบ้านเสนอว่าให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แปลงใหญ่หรือแปลงรวม และขอขยายเวลาการสำรวจออกไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ยังตกหล่น มิเช่นนั้นประชาชนเสียสิทธิกันหมด

“จริงๆแล้วทางการเขาก็แบ่งเขตรับผิดชอบกัน ทั้งอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์ ซึ่งหากพวกเขาทำกันจริงๆจังๆก็ไม่ตกหล่น แต่ตอนนี้เฉพาะเขตอุทยานสาละวินมีอย่างน้อย 10 ชุมชนที่ตกหล่น บ้าง 7 แปลง บ้าง 5 แปลง ตอนแรกเขาบอกว่าให้ แต่พอเราไปตรวจในแผนที่การสำรวจภาพถ่ายทางอากาศกลับไม่มี หากเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านก็เข้าไปทำกินไม่ได้เพราะผิดกฏหมาย และเสียสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นไร่หมุนเวียนและที่นาซึ่งทำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมก่อนมีอุทยานเสียด้วยซ้ำ”นายสะท้าน กล่าว

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า กฎหมายอุทยานฯฉบับนี้ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีบทเฉพาะการเรื่องการสำรวจและครอบครองที่ดินของประชาชนภายใน 240 วัน ซึ่งจะครบกำหนดจริงๆในวันที่ 23 กรกฎาคม แต่อาจมีการตกลงกันภายในกรมอุทยานฯให้แล้วเสร็จในวันที่ 21 กรกฎาคม อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ ได้ให้สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ตามเขตต่างๆเป็นเจ้าภาพหลักในการสำรวจ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมีคู่มือให้เจ้าหน้าที่ถือปฎิบัติ แต่การสำรวจช่วงนั้นเป็นไปตามหลักการมติ ครม.30 มิถุนายน 2541 และไปคัดกรองเอาคนออกจากป่า ซึ่งการสำรวจระลอกนี้มีปัญหามากสุด

นายสุมิตรชัยกล่าวว่า ต่อมาเมื่อกฎหมายอุทยานฯออกมาใหม่จึงได้มีการสำรวจชุดที่สอง ตอนแรกก็ไม่รู้คืบหน้าแค่ไหน จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายน 2563 ได้มีการร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และได้มีการติดตามเรื่องจากสำนักนายการัฐมนตรี จนกระทั่งได้มีการสรุปความเห็นเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สำรวจข้อมูลทั้งหมดตามกรอบเวลาก่อน ถ้าพบร่องรอยการทำประโยชน์ แล้วค่อยมาคัดกรองภายหลัง แต่ไม่ใช่คัดเขาออกตั้งแต่แรก ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยและได้ให้งบประมาณกลางเพิ่ม 178 ล้านบาทเพื่อมาทำการสำรวจ

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าข้อมูลหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ หรือสำรวจไม่ครบ จึงได้มีการกดดันเรื่องนี้ไปที่กรมอุทยานฯ ซึ่งอธิบดีได้สั่งการว่าถ้าทำไม่ทันหรือทำไม่แล้วเสร็จให้หน่วยงานที่รับผิดชอบวงกลมรอบหมู่บ้านหรือพื้นที่เอาไว้ก่อน สรุปคือต้องทำให้เสร็จภายใน 240 อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คงต้องรอดูว่าอุทยานฯจะประกาศข้อมูลอย่างไร เพราะในกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องประกาศข้อมูลให้ประชาชนทราบ แต่ประชาชนควรรับรู้ว่าใครบ้างที่มีชื่ออยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

ผู้สื่อข่าวถามว่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีหลายหมู่บ้านที่พื้นที่ตกหล่นควรทำอย่างไร นายสุมิตรชัย กล่าวว่า ฝ่ายต่างๆได้ไปประชุมกันที่แม่ฮ่องสอนถึง 2 ครั้งซึ่งทางหน่วยงานราชการแจ้งว่าทำเสร็จแล้ว ซึ่งถ้ามีการตกหล่นก็ต้องไปยื่นคำร้องและขอให้มีการสำรวจ หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ถือว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่  ขณะเดียวกันชาวบ้านที่ประสบปัญหาควรแจ้งไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพในการติดตามเรื่องนี้ หรือไม่ชาวบ้านก็อาจทำไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานฯที่ดูแลพื้นที่นั้น

“กฎหมายฉบับนี้แก้ไขใหม่ หลักการเขียนไว้ชัดว่าต้องรองรับหลักการระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งรัฐต้องยอรับหลักการชุมชนอยู่กับป่า หากไม่ปฎิบัติเตามก็ถือว่าคุณละเว้น ไม่รับรองสิทธิของประชาชน เมื่อคุณได้ข้อมูลชุมชนจากการสำรวจก็ควรพัฒนาการคุ้มครองสิทธิให้เป็นไปตามหลักการข้อตกลงระหว่างประเทศที่คุณไปรับรองไว้ ที่ป่าแก่งกระจานมีปัญหาไม่เป็นมรดกโลกก็เพราะปัญหานี้ ดังนั้นคุณต้องยึดหลักการนี้ไว้ก่อน เพื่อเป็นกรอบคิด ถ้ามัวแต่แจกที่ดินเล็กๆน้อยๆยอมให้ชาวบ้านเป็นผู้อาศัยแต่ไม่พูดถึงสิทธิเขา เห็นชาวบ้านเหมือนคนสวน มันไม่ใช่ มันผิดหลักการที่คุณเขียนไว้ชัดเจนในกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วม”นายสุมิตรชัย กล่าว

เมื่อถามอีกว่าในหลายพื้นที่แม้มีการสำรวจแต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นป่าต้นน้ำทำให้ชาวบ้านอาจเสียที่ดินทำกิน นายสุมิตรชัยกล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ควรยึดกติกาของมติครม.30 มิถุนายน เพราะเขาให้ยึดแค่กรอบเวลาเท่านั้น ไม่ใช้อ้างป่าต้นน้ำหรือลาดชัน ควรสำรวจทั้งหมดก่อน อย่าเอามติครม. 30 มิย.มาอ้าง

“คุณต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ อย่าถอยกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ควรเลิกคิดแบบเดิมๆ และติดกับดักเดิมๆ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังติดกับตรงนี้ เช่นเดียวกับผู้มีอำนาจข้างบนก็ไม่มีความชัดเจนและยังติดกับดัก กฎหมายบอกให้เอาแค่กรอบเวลา มันสับสนตั้งแต่เริ่มแจกคู่มือในตอนแรก จนเขาต้องแก้คู่มือกันใหม่ แต่อุทยานฯก็ไม่ทำจริงๆจังๆ ดังนั้นคนที่ตกหล่นทั้งหมดต้องแสดงตัวออกมา เพื่อทำให้เห็นว่าถูกกีดกันอย่างไร หรือตกหล่นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าดำเนินการล้มเหลวอย่างไร”นายสุมิตรชัย กล่าว

เมื่อถามอีกว่า สามารถขยายการสำรวจออกไปได้อีกหรือไม่ นายสุมิตรชัยกล่าวว่า ทำได้โดยการออกพระราชกำหนดเพื่อประโยชขน์ของประชาชนซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครคัดค้าน เพียงแต่อุทยานฯต้องยอมรับความผิดพลาดและเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นค่อยเสนอให้สภาฯรับรอง

Related Posts

Send this to a friend