ENVIRONMENT

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมผสานความร่วมมือทุกฝ่าย แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย แนะเร่งปรับพฤติกรรมการทำเกษตร พร้อมผสานความร่วมมือทุกฝ่าย แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมประชุมสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งจัดโดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate) ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่มีมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ มีผลกระทบในเรื่องสุขภาพและการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการที่เข้มงวดทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตร ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ต้องขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเมียนมา ทั้งนี้ นักวิจัยได้เก็บข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษและที่มาของฝุ่น ทั้งจากการจราจร การเกษตร ไฟป่า และฝุ่นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังใช้ดาวเทียมวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องฝุ่นในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหา

นอกจากนี้ ต้องทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งการทำเกษตรซึ่งเป็นอาชีพของประชาชน การเก็บเกี่ยวพืชผล สภาวะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ทิศทางลม รวมถึงความชื้นสัมพันธ์ ความหนาแน่นของจุดความร้อน ตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ที่มีผลในการเกิดฝุ่น PM 2.5 โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน จังหวัดในภาคเหนือของไทยจะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 หนักที่สุด

ดร.วิจารย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในทางออกคือการให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงผลกระทบในการเผาพื้นที่การเกษตร จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จะต้องเผาในการเริ่มต้นพื้นที่เกษตรใหม่ ด้วยการขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด รวมถึงจัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่า ควบคุมการเก็บของป่าและการใช้ประโยชน์ โดยกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน ลดความเสี่ยงเกิดไฟป่า นอกจากนี้ยังนำโดรนและแอปพลิเคชั่น FrieD เข้ามาใช้บริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล รวมทั้งการดำเนินการใช้มาตรฐานทางกฎหมาย และการจัดการที่ดินที่เข้มงวด

วิลาวรรณ น้อยภา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ควรมีการแลกเปลี่ยนกลไกการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมาร์ ถึงการแก้ปัญหาหมอกควัน ซึ่งอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องทำงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ในการจัดการลดหมอกควันข้ามแดนประเทศไทย และจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ ในการลดปัญหาฝุ่น ควรใช้หลักการป้องกัน เพื่อให้ทำการเกษตรปลอดการเผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุมผ่านการจัดระเบียบ วางแผน แจ้งการเผา รวมถึงกำหนดเขตห้ามเผา การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุ พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกำหนดกลไกกติกาต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมอาชีพสำหรับเกษตรกรเพื่อลดการเผาพื้นที่เกษตร รวมทั้งสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ต่าง ๆ

Related Posts

Send this to a friend